วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เมื่อเบื่องาน


คนเราเมื่อต้องทำอะไรซ้ำซากจำเจ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ย่อมจะเกิดความเบื่อหน่ายเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่ายิ่งถ้าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องของงานเป็นเรื่องหนักใจ เป็นเรื่องไม่สนุกและยิ่งไปเจอกรณีที่ได้ค่าตอบแทนน้อยอีกต่างหาก ก็ยิ่งจะรู้สึกเบื่อไปกันใหญ่
แต่เมื่อเกิดเป็นคนโดยเฉพาะเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง ตลอดจนรับผิดชอบครอบครัว สังคม รวมถึงประเทศชาติด้วย จำเป็นต้องมีชีวิตอยู่กับงานต้องทำงานด้วยกันทุกคน เพราะงานทำให้ชีวิตมีค่า อย่างที่เปรียบเปรยกันว่า " ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน " ใครทำงานมาก ก็เป็นคนมีค่ามาก คนที่ไม่ทำงานเลยทั้งที่ร่างกายและจิตใจปกติดีทุกอย่าง คงเรียกได้ว่า เป็นคนไร้ค่า
 ถ้าอยากให้ชีวิตมีคุณค่าก็ควรจะรีบเร่งทำงานกัน แต่เมื่อทำงานนานเข้า เจอปัญหามาก ๆ เข้า เจอแต่เรื่องไม่สบอารมณ์บ่อย ๆ ก็มีสิทธิเกิดความรู้สึกเบื่องานกันได้ อยากจะเลิกทำงานอยากจะนอนเล่นอยู่กับบ้านขึ้นมาเฉย ๆก็ได้
 แต่ตราบใดที่เรายังเลิกทำงานไม่ได้ เราควรหาทางลดความเบื่อหน่ายในงานลง วิธีง่าย ๆ ที่อยากเสนอแนะ มีดังนี้
 1. ลองแข่งขันกับตัวเองวางเป็าหมายในแต่ละวันไว้ว่าวันนี้ควรจะทำทำงานให้เสร็จแค่ไหน แล้วก็ตั้งอกตั้งใจทำถ้าทำได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ถือว่าเราเป็นผู้ชนะ  ถ้าทำได้พอดีกับเป้าหมาย ถือว่าเสมอตัวแต่ถ้าทำได้น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ถือว่าแพ้
 การทำงานควรมีการพัฒนาขึ้นด้วย เมื่อวานเคยทำงานได้เท่านี้ วันนี้ควรจะทำได้มากขึ้นกว่าเก่า เช่น เคยพิมพ์ดีดได้วันละ 10 หน้า ก็ต้องพยายามเพิ่มให้ได้เป็น 11 หน้า เคยทำงาน 1 ชิ้น เสร็จใน 30 นาที คราวต่อไปต้องพยายามลดให้เหลือเพียง 25 นาที โดยคุณภาพของงานคงที่แต่เสร็จเร็วขึ้น เหมือนกับนักกีฬาที่ต้องทำลายสถิตเดิมของตัวเองให้ได้
 การแข่งขันทำงานกับตัวเองจะทำให้จิดตใจจดจ่ออยู่กับงานลืมเรื่องจุกจิกกวนใจ มีสมาธิขึ้นเมื่อสามารถชนะตัวเองได้ จะเกิดความภูมิใจ ลืมความเบื่อความเซ็งไปได้เหมือนกัน
 2. ให้รางวัลกับตัวเอง ตามปกติเมื่อทำงานใหญ่เสร็จสักชิ้นก็มักจะมีการเลี้ยงฉลอง หรือเมื่อเพื่อนฝูงได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง ก็ชวนกันไปกินเลี้ยงหรือมอบของขวัญให้
 แต่ในกรณีของเรา ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวาระสำคัญอย่างนั้นเพียงแต่ทำงานเสร็จก่อนเวลาหรือทำงานได้ดีเป็นที่พอใจ ก็ให้รางวัลกับตัวเองได้แล้ว รางวัลก็ไม่ต้องมากมายอะไร อาจจะเป็นขนมสักชิ้น กาแฟสักแก้วหรือน้ำส้มสักแก้ว เป็นต้น
3. หาเวลาพักผ่อนหย่อนอารมณ์บ้าง การทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำเกินไป จนร่างกายอ่อนล้า จิตใจก็พลอยเหนื่อยหน่ายไปด้วย เพราะฉะนั้นควรหาเวลาพักระหว่างการทำงานบ้าง บางคนนอนกลางวันสักครึ่งชั่งโมง ตื่นขึ้นมาร่างกายก็สดชื่นสามารถทำงานตอนบ่ายได้ดีขึ้นการทำงานที่ต้องใช้ความคิดมากอาจจะหยุดพักระหว่างเช้าและระหว่างบ่าย อย่างที่เรียกภาษาฝรั่งว่า " คอฟฟี่เบรค " จะทำให้สมองได้ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียดจนเกินไป สมองปลอดโปร่ง และความคิดแล่นดีขึ้น
 ในแต่ละปี ควรหาเวลาพักผ่อนอย่างชนิดติดต่อกันสัก 1 สัปดาห์บ้าง อาจไม่จำเป็นต้องไปท่องเที่ยวไกล ๆ ให้สิ้นเปลืองเงินทอง เพียงแค่ได้เปลี่ยนบรรยากาศ หยุดทำงานเสียชั่วคราวก็จะช่วยลดความจำเจ ช่วยลดภาระการงาน หรือช่วยให้พ้นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงานหายหนักอกหนักใจได้สักพัก ได้สะสมพลังทั้งกายและใจ เพื่อกลับไปสู้งานใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 คุณผู้อ่านที่กำลังเบื่องานก่อนที่จะตัดสินใจเลิกทำงานหรือคิดแต่จะเปลี่ยนงานอยู่เรื่อยถ้าคุณได้งานที่ดีกว่า เงินดีกว่า ถูกใจกว่า ก็คงจะถือเป็นโชคใหญ่แต่ถ้ายังหาไม่ได้ แทนที่จะทำงานแบบเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ ให้ชีวิตอับเฉาไปวัน ๆ ลองมาพยายามใช้วิธีการ 3 วิธี คือ ลองแข่งขันกับตัวเอง ให้รางวัลตัวเอง และหาเวลาพักผ่อนบ้าง อย่างที่เล่าข้างต้นคุณคงพอทุเลาอาการเบื่องานได้บ้างนะคะ

บทความของ อินทิรา ปัทมินทร  จากหนังสือรายการกระจายเสียง วิทยุศึกษา ฉบับเดือน กันยายน 2533 หน้า 14- 16

นอกจากอาการเบื่องานแล้วอีกเรื่องหนึ่งในที่ทำงานที่ทำให้เราไม่สบายใจ ก็คือมลพิษทางจิตกับการทำงาน ซึ่งเป็นบทความของ นายแพทย์มนตรี นามมงคล จิตแพทย์ โรงพยาบาลสวนปรุง เชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ดังต่อไปนี้

ทุกวันนี้คนเราต้องมีชีวิตอาศัยอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงผันแปรอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นมลพิษขึ้นมา เราก็อาจจะแบ่งได้ง่าย ๆ คือมลพิษทางกายและมลพิษทางจิตคนเราคงจะยอมรับว่าบางทีเราก็ปรับตัวไม่ทันกับสภาวะแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป ทำให้เกิดความรู้สึก โกรธ เกลียด หงุดหงุิด ไม่สบายใจ เครียด และวิตกกังวล
 มลพิษทางกายคงเป็นสิ่งที่เราทุกคนรู้และทราบกันดีว่ามีอะไรบ้าง ที่สำคัญคือเป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ยิน สัมผัส และรู้สึกได้ เช่น ความร้อน เย็น แสงสว่าง เสียงดนตรีหรือเสียงรบกวนอื่น ๆ สภาพอาคารบ้านเรือน ยานพาหนะ กฎระเบียบและการปกครอง เหล่านี้เป็นต้นในที่นี้เราจะมาพูดกันถึงมลพิษทางจิต
 มลพิษทางจิตเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ไม่ได้ยินเสียง แต่เราสามารถรู้สึกได้การรู้สึกได้นั้นจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสุขภาพจิตของเราด้วย เช่นสุขภาพเราเสีย เป็นโรคจิตเราอาจจะพอใจทำอะไรก็ได้ ซึ่งในคนปกติเขาไม่ทำ ตัวอย่างคือ นอนกลางถนน และมีแดดร้อนจัดเต็มไปด้วยฝุ่น ควัน ท่อไอเสีย มากมายอย่างนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายคือ เสี่ยงต่อการถูกรถชน มีไข้สูง เนื่องจากนอนกลางแดดและปอดเสียจากการสูดเอาฝุ่นและควันพิษเข้าไปในปอด ภาวะเช่นนี้ต้องถือว่ามีมลพิษทางจิตเกิดขึ้นด้วยอย่างแน่นอน และการที่เราจะรู้สึกว่ามลพิษทางจิตเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสุขภาพจิตของเราด้วย เป็นประการสำคัญ
 ดังนั้น มลพิษทางจิตมาจากไหนในเมื่อเราจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็นและไม่ได้ยิน เราจะทราบได้อย่างไรว่าจิตเราเริ่มมีมลพิษ
ประการแรกเราคงต้องมองดูตัวเราเองก่อนเราเป็นคนอย่างไรเดิมเคยเป็นคนร่าเริงก็เปลี่ยนเป็นคนเงียบขรึม เดิมเคยพูดมากก็พูดน้อยลง เดิมเป็นคนขยัน ทำงานขันแข็ง แต่ตอนนี้เกิดความเบื่อหน่ายงาน อยากจะลาออก เราก็คงจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อะไรทำให้เราเป็นเช่นนั้น ถ้าตอบตัวเองไม่ได้ก็จงรู้ว่าสาเหตุทางจิตนั้นเกิดจากสิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น เพื่อนร่วมงานไม่ดี ผู้บังคับบัญชาไม่ยุติธรรม ลูกน้องไม่เคารพยำเกรงนโยบายเปลี่ยนแปลงไปมาหรือขัดแย้งกันในตัวของมันเอง ทำให้คนปฎิบัติงานลำบากใจ ไม่ชอบในงานที่ทำเป็นต้น
 สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเราทีละเล็กละน้อย ทำให้สุขภาพจิตที่ดีต้องสั่นคลอน เกิดอาการเครียดง่าย เบื่ออาหาร นอนไม่ค่อยหลับหรือหลับไม่เต็มที่ อาการเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชัดบอกว่าสุขภาพจิตของเราเริ่มถูกคุกคามจากมลพิษ ก่อให้เกิดมลพิษทางจิต สาเหตุก็คงจะต้องค่อย ๆ พิจารณาแก้ไขเป็นข้อ ๆ ไป หากยังไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้ ก็ยังมีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสงคมสงเคราะห์ พยาบาลจิตเวช อีกมากมายที่พร้อมจะให้คำปรึกษาแนะนำ แนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆหรือร่วมกันหาสาเหตุของสุขภาพจิตเสีย เพื่อกำจัดหรือหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นให้พ้นไป แต่ถ้าต้องอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิมต่อไป เราก็ควรจะมองหาจุดดีหรือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขมาทดแทน เพื่อกระตุ้นเตือนตัวเราให้มีกำลังใจ ทำงานให้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพต่อไป

บทความของ นายแพทย์มนตรี นามมงคล ในหนังสือรายการกระจายเสียงของวิทยุศึกษา เดือนพฤษภาคม 2534