วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

 หน้าร้อนกับท้องร่วงเป็นของคู่กันจริงหรือ ? คำตอบก็คือเป็นเรื่องจริงเพราะฤดูร้อนมีผลไม้ออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ขยะก็มาก แมลงวันที่เติบโตอยู่ในกองขยะก็มีมากตามไปด้วย แมลงวันคือตัวพาเชื้อโรคท้องร่วงให้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว น้ำดื่มน้ำใช้ก็ขาดแคลนเพราะเป็นช่วงฤดูร้อน การดื่มน้ำอย่างไม่ระมัดระวังน้ำไม่สะอาดพอหรือมีการป่นเปื้อนของเชื้อโรคก็ทำให้เกิดโรคท้องร่วงกันมาก ดังนั้น จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำร้อนที่ผ่านการต้มแล้วเท่านั้น
 โรคอุจจาระร่วงพบได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี และเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่ดื่มนมผสม โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่อุจจาระร่วงเฉียบพลัน คือ เกิดมีอาการท้องร่วงขึ้นอย่างทันทีทันใด และอาจท้องร่วงต่อเนื่องกันเป็นนเวลาหลายวัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีเชื้อโรคที่ผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ส่วนอุจจาระร่วงเรื้อรังนั้น จะมีอาการเกินกว่า 3 สัปดาห์ มีจำนวนและลักษณะการถ่ายอุจจาระแต่ละวันแตกต่างกันไปส่วนสาเหตุนั้นอาจเกิดจากภาวะการขาดสารอาหาร หรือมีพยาธิชนิดต่าง ๆ อยู่ในลำไส้
  อาการที่สังเกตได้ง่าย ๆ ก็คือเด็กมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเกิน 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูก มูกปนเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำมาก ๆ 1ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง โรคอุจจาระร่วงมักไม่มีอาการไข้และปวดเบ่งส่วนใหญ่มักหายได้เองในระยะ 2 - 3 วัน แต่มีบางอย่างหายช้าและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ส่วนเด็กทารกที่ดูดนมแม่มักจะถ่ายอุจจาระที่อ่อนกว่าปกติก็ไม่ถือว่าเป็นโรคอุจจาระร่วง
 อันตรายที่สำคัญ 2 ประการของโรคอุจจาระร่วงในเด็กก็คือ การเสียชีวิต และ การขาดสารอาหาร สาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตจาการเป็นโรคอุจจาระร่วงก็คือการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกไปจากร่างกายมาก ๆ จนเด็กเกิดอาการขาดน้ำ ส่วนการขาดสารอาหารเกิดจากการสูญเสียอาหารไปพร้อมอุจจาระ และเด็กที่ป่วยมักไม่อยากทานอาหาร หรือผู้ปกครองบางท่านมักงดให้น้ำและอาหารระหว่างที่เด็กป่วย การปฎิบัติเช่นนี้จะทำให้เด็กขาดสารอาหารได้ ดังนั้นเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงบ่อย ๆ จึงมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กทั้งทางด้านร่างกายรวมถึงสมองด้วยเพราะเมื่อเด้กอุจจาระร่วง แต่ละครั้งก็ทำให้เกิดอาการชะงักการเจริญเติบโต และพัฒนาการทางสมองของเด็ก
 การป้องกันให้บุตรหลานในวัยเด็กของท่านปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วงก็คือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่สะอาดดื่มได้ทันทีไม่มีเชื้อโรค ปลอดภัยกว่านมผสมตรงที่นมผสมอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ และน้ำที่ใช้ผสมนมอาจไม่สะอาดได้เช่นกัน อีกทั้งน้ำนมแม่ยังมีคุณค่าอาหารสูง มีภูมิต้านทานต่อโรคต่าง ๆ จึงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับทารกจนถึงอายุ 2 ปี
 ส่วนคุณแม่หรือคนที่เลี้ยงเด็กนั้น ก็ควรจะรักษาสุขภาพอนามัยทั้งส่วนตัวและส่วนรวมด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหารก่อนรับประทานอาหารหรือก่อนให้อาหารเด็ก และถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะแล้วล้างมือให้สะอาดก่อนออกจากห้องน้ำทุกครั้ง เลือกรับประทานอาหารและให้อาหารที่สุกใหม่ ๆ อาหารที่ไม่มีแมลงตอมแก่เด็ก น้ำที่จะนำมาดื่มถ้าไม่แน่ใจก็ให้ต้มก่อนทุกครั้ง และสิ่งที่สำคัญคือ การดูแลรักษาความสะอาดบ้านและบริเวณบ้านได้แก่การกำจัดน้ำเสียและขยะอย่างถูกวิธีโดยการฝังหรือเผาเพื่อป้องกันแหล่งเพาะพันธ์ุแมลงวันด้วย
 ถ้าบุตรหลานของท่านเกิดเป็นโรคอุจจาระร่วงขึ้น ท่านก็สามารถให้การรักษาง่าย ๆ ที่บ้านโดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน นำมาผสมน้ำต้มสุกให้เด็กดื่มเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับอุจจาระนอกจากจะให้เด็กดื่มน้ำผสมผงน้ำตาลเกลือแร่แล้ว ท่านก็ต้องให้เด็กทานอาหารต่อไปด้วย ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ยังดูดนมแม่อยู่ก็ให้ดูดให้มากขึ้น ถ้าเด็กไม่ดูดนมแม่ก็ให้อาหารอื่นแทน เช่น น้ำข้าว น้ำซุป น้ำผลไม้ หรือข้าวต้ม ควรให้อาหารแก่เด็กทันทีเมื่อหิว แม้เด็กจะยังมีอาการถ่ายอุจจาระอยู่ เพราะเมื่อเด็กเป็นโรคอุจจาระร่วง การดูดซึมของลำไส้จะไม่ดีนัก ถ้าหยุดให้อาหารเด็กด้วยแล้วจะยิ่งทำให้เด็กเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่ควรให้เด็กงดอาหาร อาหารที่ให้ควรเป็นอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม ซุป ไข่ ปลา ไม่ควรให้อาหารที่มีรสจัดหรือมีกากมาก การให้อาหารแก่เด็ก อุจจาระร่วงควรให้บ่อยครั้ง ประมาณ 5 - 7 ครั้งต่อวันและควรให้อาหารเพิ่มอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งต่อไปอีก เป็นเวลา 1 อาทิตย์ หลังจากที่เด็กหยุดถ่ายเป็นน้ำแล้ว
 สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ท่านจะต้องรู้ก็คือ เมื่อไรจึงจะต้องพาเด็กที่อุจจาระร่วงไปพบหมอ อาการที่บอกว่าต้องพบหมอ คืออาการที่เด็กขาดน้ำ ฉะนั้นพ่อแม่และผู้ปกครองต้องคอยสังเกตว่าเด็กของท่านเกิดอาการขาดน้ำขั้นรุนแรงหรือไม่ เช่น เด็กเกิดอาการซึม อ่อนเพลียมาก มือเท้าเย็นชื้นจนถึงขั้นไม่รู้สึกตัว ดวงตาแห้งและลึกโหลมากหรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง และมีอาการกระหายน้ำมาก การหายใจเร็วและลึก เมื่อจับผิวหนังจะคงตั้งอยู่นาน จึงจะยุบลงเป็นปกติเมื่อเด็กมีอาการดังกล่าวเหล่านี้ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที


โดย กองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข
จากหนังสือรายการกระจายเสียง ของวิทยุศึกษา ฉบับ เดือน เมษายน 2535 หน้า36 -38