วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2559

โรคตาแดง


โรคตาแดงเป็นโรคตาที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ คือจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และภูมิแพ้ ทั้ง 3 สาเหตุ ทำให้เกิดอาการตาแดงได้คล้ายคลึงกัน แต่มีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกันจึงควรวินิจฉัยแยกโรค เพื่อให้การรักษาและการดูแลตนเองตนเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม

โรคตาแดงจากภูมิแพ้ ( Allergic Conjunctivitis )
   เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาที่เกิดจากการแพ้ เช่น แพ้เกสรดอกไม้ ฝุ่น ยา ควันบุหรี่ เป็นต้น มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และเป็นร่วมกับโรคภูมิแพ้ของอวัยวะอื่น เช่น น้ำมูกไหล หืด หรือผื่นแพ้ที่ผิวหนัง เมื่อเป็นติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้เป็นต้อลมและต้อเนื้อได้



อาการสำคัญคือ คันตามากโดยเฉพาะตรงบริเวณหัวตา, ตาแดงเรื่อ ๆ มักจะเป็นสองข้าง, ระคายเคืองตา,  ตาบวม, มีน้ำตาไหล, มีเมือกหรือขี้ตาใส ๆ

การป้องกันและรักษาคือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการแพ้, ประคบเย็น, เพื่อลดอาการบวม, ใช้ยาหยอดตาแก้แพ้ ยาหยอดตาลดการอักเสบ และยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน

*** ตาแดงชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดการติดต่อ ถ้าไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย

โรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรีย ( Bacterial Conjunctivitis )
  เป็นการอัเสบของเยื่อบุตาที่เกิดจากการติดเชื้อ S.epidermidis, S.aureus

อาการสำคัญคือ มีอาการตาแดงไม่มาก มีขี้ตามากสีเขียวปนเหลือง ทำให้เปิดตาลำบากในตอนเช้ามักจะไม่มีอาการปวดตาหรือเคืองตา ไม่มีอาการคันอาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ บางรายมีไข้ร่วมด้วย

การรักษาคือ ใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดเปลือกตา เพื่อให้ขี้ตาอ่อนตัวลง, ใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะและอาจใช้ยาหยอดตาแก้แพ้ร่วมด้วย

โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส ( Viral Conjunctivitis )
  เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม adenovirus พบบ่อยในเด็กเล็ก ๆ มักระบาดในฤดูฝนและแพร่ระบาดได้ง่ายตามชุมขน โรงเรียน ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก ก็อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
อาการสำคัญคือ เยื่อบุตาขาวจะอักเสบแดงมาก ปวดตา เคืองตา มีน้ำตาไหล กลัวแสง ต่อมน้ำเหลืองหลังหูมักเจ็บและบวม มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วติดต่อมายังตาอีกข้าง
การรักษา จะรักษาตามอาการของโรค เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสยังไม่มียาฆ่าไวรัสนี้โดยตรง ถ้ามีขี้ตามากอาจหยอดยาปฏิชีวนะ ถ้ามีไข้ เจ็บคอ ก็ใช้ยาแก้อักเสบร่วมกับยาลดไข้ ยาลดปวด แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้นต้องรีบไปพบแพทย์

โรคตาแดงติดต่อกันได้อย่างไร ?
 โรคตาแดงมักระบายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันอย่างแออัด โดยส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับน้ำตา ขี้ตา ของผู้ป่วย หรือคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยตรงหรืออาจติดต่อทางอ้อมได้โดย

- ใช้มือสกปรกที่มีเชื้อโรคขยี้ตา
- ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา เครื่องสำอางค์ และของใช้อื่น ๆ ร่วมกับผู้ที่เป็นโรค
- แมลงวันหรือแมลงหวี่มาตอมตา

*** ทั้งนี้โรคตาแดง จะไม่ติดต่อทางการสบตา ทางอากาศหรือรับประทานอาหารร่วมกัน และอาการต่าง ๆ จะเกิดได้ภายใน 1 - 2 วัน และระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน

เมื่อเป็นโรคตาแดงควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
- ควรหยุดเรียนหรือหยุดทำงานประมาณ 1 - 2 สัปดาห์หรือจนกว่าอาการตาแดงจะหายเป็นปกติ และไม่ควรไปอยู่ในที่ชุมชน เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า หรือลงเล่นน้ำในสระ เพราะอาจนำโรคไปแพร่ติดต่อสู่ผู้อื่นได้
- เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำหรือพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากถูกตาและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
- ควรพักสายตา ไม่ใช่สายตามากนัก และพยายามรักษาสุขภาพ
พักผ่อนมาก ๆ ไม่ควรทำงานดึกควรนอนให้เพียงพอ
- ไม่จำเป็นต้องปิดตาไว้ตลอด ยกเว้น มีกระจกตาอักเสบ จึงปิดตาเป็นครั้งคราว
- แยกของใช้ส่วนตัว อย่าให้ผู้อื่นใช้ร่วมด้วย
- ควรใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคือง
- งดใส่คอนแทกเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบ
- หากใช้กระดาษนุ่มซับน้ำตาหรือขี้ตาแล้ว ควรทิ้งในถังขยะที่มิดชิด

มีวิธีป้องกันไม่ให้ติดโรคตาแดงไหม ?
 โรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล ได้แก่
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่อยู่เสมอ ไม่่ใช้มือที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดขยี้ตา
- เมื่อฝุ่นละอองหรือผงเข้าตาไม่ควรขยี้ตา ให้ล้างด้วยน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว
- ในสถานที่ที่คนอยู่รวมกันอย่างแออัด ควรจัดหาน้ำสะอาดให้เพียงพอ สำหรับการล้างมือ ล้างหน้าและใช้อาบ
- ไม่ใช้สิ่งของ เช่น เครื่องสำอางค์ แว่นตา ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ ถ้วยล้างตาหรือยาหยอดตา ร่วมกับผุ้อื่น โดยเฉพาะเมื่อมีโรคตาแดงระบาดต้องระวังให้มากยิ่งขึ้น
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ให้สะอาดอยู่เสมอ

ขอบคุณความรู้ดี ๆ จากแผ่นพับที่จัดทำโดย งานสุขาภิบาลและควบคุมโรค โรงพยาบาลบางจากสนับสนุนโดย กองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลเมืองลัดหลวง