วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อาหาร ปัจจัยสำคัญทำให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมสู้กับมะเร็ง



ข้าว แป้ง

 ควรรับประทานข้าวและแป้งเป็นหลัก และในกรณีเบื่ออาหารประเภทข้าวสามารถเลือกใช้ขนมปังแทนได้ โดยหากได้รับพวกข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือก็จะเป็นประโยชน์แก่ร่างกายอย่างมาก

เนื้อสัตว์
  สามารถรับประทานได้ทุกชนิด โดยเน้นเนื้อสัตว์คุณภาพดีไม่ติดมัน อาจเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ปลาเล็กปลาน้อย เป็นต้น ไข่ไก่ 1 ฟองต่อวัน หรือดื่มนมพร่องมันเนยร่วมด้วยก็ได้

ไขมัน
   ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทอดจากน้ำมันซ้ำ ๆ ควรรับประทานไขมันแต่พอดี ประมาณ 5 ช้อนชาต่อวัน และไม่ควรใช้น้ำมันในการปรุงประกอบอาหารที่มากจนเกินไป และเลือกกรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งแทน เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว เป็นต้น

ผัก
    รับประทานพืชผักสีเข้ม ทั้งเหลืองเข้มและเขียวเข้ม เช่น ผักตระกูลกะหล่ำ จะมีสาร isothiocyanate ซึ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ฟักทอง บรอกโคลี มะเขือเทศ ผักเหล่านี้จะมีสารเบต้าแคโรทีนที่ช่วยต่อต้านปฎิกิริยาออกซิเดชั่น

ผลไม้
     รับประทานได้ทุกชนิด โดยเน้นผลไม้ที่มีสีส้ม, แดง และผลไม้เหล่านี้จะมีซีสูง เช่น ฝรั่ง ส้ม แอปเปิ้ล มะละกอ องุ่น สตรอว์เบอรี่ กล้วย ผลไม้เหล่านี้จะมีสารที่ช่วยป้องกันมะเร็ง เช่น Fiber, phenol,  flavonoid, carotenoid เป็นต้น

เมล็ดธัญพืช
       ข้าวกล้อง ข้าวโพด ลูกเดือย งา ถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ฯลฯ จัดเป็นอาหารต้านมะเร็ง โดยเฉพาะถั่วเหลืองมีปริมาณกรดอะมิโนสูงและยังมีกากใยมาก ซึ่งช่วยให้ระบบย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารได้ดีรวมถึงมีปริมาณแร่ธาติหายากมากกว่า อาหารประเภทอื่น ๆ เช่น ธาตุเหล็ก ธาตุสังกะสี ธาตุเซลีเนียม ซึ่งช่วยต้านมะเร็ง

จากหนังสือคู่มือการดูแลตัวเองของผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รับมืออย่างไรเมื่อได้รับผลข้างเคียงจากยาตอนที่ 3


ท้องอืด
 เป็นอาการที่เกิดจากระบบการย่อยอาหารทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพทำให้มีการตกค้างของอาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์อยู่ในระบบทางเดินอาหารจุลินทรีย์ประจำถิ่นจะทำหน้าที่ย่อยแทนร่างกายเราทำให้เกิดแก๊สขึ้น จึงส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด การรับประทานอาหารไขมันต่ำและอาหารที่ย่อยง่ายจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
   อาหารเบาย่อยง่าย เช่น ข้าว ไข่ขาว ผักกาดแก้ว ปลา และยังมีอาหารและสมุนไพรบางตัวที่มีสรรพคุณช่วยย่อยและลดกรด เช่น ขมิ้นชัน สะระแหน่ น้ำว่านหางจระเข้ น้ำทับทิม เป็นต้น

มีอาการอ่อนแรง อ่อนเพลีย
   อาการอ่อนแรงควรกลับมาสำรวจดูอาหารที่รับประทานว่าเพียงพอหรือไม่ หากพบว่าไม่พอเพียงอาจจะต้องเพิ่มจำนวนอาหารให้มากขึ้นหรือมีการดื่มน้ำผลไม้เย็น ๆ จิบเล่นเป็นประจำจะทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้นระหว่างการได้รับเคมีบำบัด ในบางกรณีอาหารทางการแพทย์ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานเสริมอาหารเป็นบางมื้อได้

ผมร่วง
  หลังจากได้รับเคมีบำบัดอาจจะเกิดอาการผมร่วง ซึ่งเมื่อหลังได้รับการรักษาแล้วผมอาจจะยังไม่ขึ้น ควรเน้นการให้ผู้ป่วยได้รับอาหารประเภทโปรตีนให้พอเพียง นอกจากนี้ควรเพิ่มในส่วนของข้าวไม่ขัดสีเพื่อให้ได้รับวิตามินบีที่พอเพียง อีกทั้งหากอาการท้องเสียยังไม่หายดีอาจจะต้องกลับไปพบแพทย์ ควรดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารในการปรุงประกอบอย่างต่อเนื่อง การได้รับอาหารยังคงเป็นพวกอาหารพลังงานสูงและมีโปรตีนสูงอยู่เพราะอาหารดังกล่าวจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว


จากหนังสือคู่มือการดูแลตัวเองของผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อาหารการกิน


ข้าวเหนียวปิ้งไส้กล้วยไส้เผือก

ส่วนผสม
ข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม มะพร้าวขูดขาว 500กรัม น้ำตาลทราย 1/4 ถ้วย เกลือป่น 1 ช้อนชา น้ำดอกไม้สดหรือน้ำเปล่า 3 ถ้วย ใบตองตามความต้องการ
ส่วนผสมไส้กล้วย
กล้วยน้ำว้าสุก 6 ลูก ปอกเปลือกผ่าครึ่งลูกตามยาว
ส่วนผสมไส้เผือก
เผือกหัวใหญ่ต้มหรือนึ่งให้สุก 1 หัว น้ำตาลปีป 1 ถ้วย น้ำ 1/4 ถ้วย
ปอกเปลือกเผือก โขลกให้ละเอียด ผสมกับน้ำตาล ใส่น้ำ ยกขึ้นตั้งไฟกวนไฟอ่อนจนเหนียว
วิธีทำ
1. ซาวข้าวเหนียวให้สะอาด แช่น้ำ 3 ชั่วโมง
2.คั้นมะพร้าวด้วยน้ำดอกไม้สด เมื่อได้กะทิแล้วนำมาผสมกับน้ำตาลทรายและเกลือป่น นำไปมูนกับข้าวเหนียวนึ่งขณะยังร้อนอยู่ ทิ้งไว้สักครู่
3.ตักข้าวเหนียวใส่ใบตองประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ วางกล้วยลง 1 ซีก ตักข้าวเหนียวปิดบนกล้วยอีก 2 ช้อนโต๊ะ พับใบตองเข้าหากันใช้ไม้กลัดปิดหัวท้าย
4. นำไปย่างไฟอ่อนจนเหลีอง
5.หากเป็นไส้เผือกใส่เผือกกวน แทนกล้วย 1ช้อนโต๊ะ

ข้อมูลจากหนังสือรายการกระจายเสียง ของวิทยุศึกษา เดือนตุลาคม 2534

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รับมืออย่างไรเมื่อได้รับผลข้างเคียงจากยา ตอนที่ 2


การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนไป
 ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีการรับรสและกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้นรสชาติอาหารควรมีการดูแล และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ที่สำคัญควรมีการเพิ่มกลิ่นในอาหาร เช่น ใส่ใบโหระพาเพื่อชูกลิ่นของอาหารให้มีกลิ่นน่ารับประทานมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากเพราะไขมันจะทำให้ตุ่มรับรสรับรสชาติได้แย่กว่าเดิม
คลื่นไส้ อาเจียน
  เมื่อเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาหารที่รับประทานต้องมีลักษณะอ่อนย่อยง่าย ไม่มีไขมันเป็นส่วนประกอบมากจนเกินไป และเริ่มให้รับอาหารปริมาณน้อยก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอาหาร แต่อาหารที่เลือกรับประทานควรเป็นอาหารพลังงานสูง เช่น เลือกเนืื้อปลานำมานึ่งรับประทาน
ท้องเสีย
  หากเกิดอาการท้องเสีย ควรงดเว้นการรับประทานอาหารรสจัดรวมไปถึงผักและผลไม้ ไม่ควรรับประทานเส้นใยอาหารที่มากเกินไปในขณะที่เกิดอาการท้องเสีย ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย มีรสจืด เพื่อลดการอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุกทุกชนิด แม้แต่ผักควรจะต้มหรือผ่านความร้อนก่อนรับประทาน เพื่อฆ่าเชื้อที่มีอยู่ในผักเหล่านั้น
  ข้าวต้มเปล่า ๆ มีสรรพคุณช่วยเพิ่มกำลังวังชาและช่วยลดอาการท้องเสียสำหรับผู้ป่วยที่ท้องเสียอย่าเพิ่งรับประทานข้าวสวย ควรรับประทานตามลำดับจากน้ำข้าวจนถึงข้าวต้มใส ๆ เพื่อให้ลำไส้มีโอกาสได้ปรับตัว เมื่อท้องเสียร่างกายเสียน้ำมาก ควรรับประทานน้ำข้าวเติมด้วยเกลือเล็กน้อยเพื่อเป็นการเพิ่มเติมโซเดียมด้วย
ท้องผูก
 ถ้าเกิดอาการท้องผูกและแน่นท้องควรดื่มน้ำให้มากขึ้น และเลือกรับประทานอาหารเส้นใยให้มากขึ้น โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ นอกจากนี้การฝึกเข้าห้องน้ำเป็นประจำยังช่วยได้มาก เช่น ทุกครั้งตอนตื่นนอนก็เข้าห้องน้ำแม้จะไม่ปวดอุจจาระก็ตาม เพื่อฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เคยชินหากมีอาการท้องผูกและควรดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 8 - 10 แก้ว

จากหนังสือ คู่มือการดูแลตัวเองของผู้ป่วยที่ได้รับรับยาเคมีบำบัด

วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การ์ตูนเล่น ๆ ( ตอน เหนียวไก่ )


เรื่องเหนียวไก่
















การ์ตูนเล่น ๆ ( ตอน พลุวันพ่อ )

การ์ตูนเรื่อง พลุวันพ่อ
วันนี้เป็นวันพ่อ เหมียวกับเจ้านายได้ดู พลุที่จุดอย่างสวยงาม
สวยจังเลยเหมียว
เอ๊ะ ๆเจ้านายเป็นอะไรไปเหรอเหมียว....?
เจ้านายคงนึกถึงพ่อที่จากไปแน่เลยเหมียว
เจ้านายเหมียวอยู่เป็นเพื่อนแล้วนะ
เหมียว ๆ รักพ่อกันทุก ๆวันนะเหมียว

วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รับมืออย่างไรเมื่อได้รับผลข้างเคียงจากยา ตอนที่ 1



ผลข้างเคียงระหว่างทำเคมีบำบัด
 เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งนั้นแพทย์จะทำการวางแผนการรักษาซึ่งอาจจะประกอบไปด้วย การผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน หรือ immunotherapy  ซึ่งอาจจะพิจารณาเป็นอย่าง ๆ หรือใช้ร่วมกันหลายวิธี ซึ่งการรักษาด้วยวิธีเหล่านั้นมุ่งหวังที่จะทำลายเซลล์มะเร็ง แต่เนื่องด้วยวิธีการรักษาก้ยังไม่มีความจำเพาะเจาะจงที่สูงมากนัก ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เซลล์ปกติจะได้รับความเสียหายด้วยโดยสาเหตุจากเซลล์ปกติถูกทำลายจึงอาจจะเกิดอาการข้างเคียงได้ซึ่งอาการเหล่านั้นมักส่งผลต่อการรับประทานอาหารได้น้อย หากการเตรียมความพร้อมดีและทำจิตใจให้สบาย อาการแทรกซ้อนก็จะมีน้อย แต่หากเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น ไม่ต้องกังวล ควรทำใจให้สบายและใช้หลักโภชนาบำบัดในการดูแลสุขภาพ ตามแต่กรณีดังต่อไปนี้
ความอยากอาหารลดลง
 ควรเริ่มรับประทานอาหารแต่น้อยแต่กระจายมื้ออาหารให้มากขึ้น และจัดรูปแบบอาหารให้น่ารับประทานพยายามคิดถึงเมนูที่ตนเองชอบมากที่สุด แต่เมนูดังกล่าวไม่ควรขัดกับหลักโภชนาบำบัด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งหน้าตาและสีสันของอาหารหากจัดให้น่ารับประทานสามารถทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ดีขึ้น เวลารับประทานอาหารควรรับประทานโดยพร้อมเพรียงกันกับคนในครอบครัวเพื่อเป็นการทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายระหว่างการรับประทานอาหาร อีกทั้งผู้ดูแลยังได้สังเกตถึงปริมาณของ อาหารที่ร่างกายคนไข้ได้รับว่าพอเพียงหรือไม่ การจัดอาหารควรจัดปริมาณน้อยและย่อยง่ายแต่มีพลังงานสูง
น้ำหนักลดและเม็ดเลือดต่ำ
 ควรทำการเสริมอาหารประเภทของโปรตีน โดยควรได้รับโปรตีนเพิ่มมากขึ้นประมาณ 1.5 - 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โปรตีนควรเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายเช่น เนื้อปลา และเนื้อไก่ไม่ติดมัน หากน้ำหนักยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ควรเพิ่มการดื่มน้ำผลไม้ให้มากขึ้น
โลหิตจางและเม็ดเลือดแดงต่ำ
 การได้รับเคมีบำบัด ยาบางชนิดจะออกฤทธิ์โดยการกดการทำงานของไขกระดูก ซึ่งการที่กดการทำงานดังกล่าวทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงนั้นน้อยลงผู้ที่ได้รับเคมีบำบัดจึงพบอาการเม็ดเลือดแดงต่ำ ฮีโมโกลบินต่ำได้ง่ายผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงก่อนเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและระหว่างการรักษาควรได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว เช่น ถั่วฝักยาว ใบชะพลู เป็นต้น ผักดังกล่าวจะอุดมด้วยธาตุเหล็ก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อร่างกายมีเม็ดเลือดที่ต่ำมากมากอย่างต่อเนื่องบางครั้งอาจจะต้องได้รับยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดแดง โดยใช้พวก erythropoietin เป็นตัวกระตุ้นฉีดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้พิจารณาใช้ยาดังกล่าว
เป็นแผลในช่องปาก ปากแห้งคอแห้ง
 การเกิดแผลในช่องปากหรือปากแห้งมาจากการที่เซลล์เยื่อบุผิวถูกทำลาย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 1  แก้ว นอกจากนั้น อาจจะต้องพิจาณางดอาหารรสจัดในระหว่างเกิดอาการดังกล่าว รวมไปถึงอาหารที่รสเปรี้ยวจัดและอาหารที่มีความร้อนมากเกินไปก็ควรหลีกเลี่ยง และควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเป็นประจำโดยเจือจางน้ำ 1 แก้ว ต่อเกลือ 1 ช้อนชา

จากหนังสือคู่มือการดุแลตัวเองของผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนได้รับเคมีบำบัด



คำถามที่ควรถามแพทย์
เกี่ยวกับเคมีบำบัด
 ทำไมเราถึงต้องการเคมีบำบัด?
 ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากเคมีบำบัดคืออะไร?
 ความเสี่ยงของเคมีบำบัดมีอะไรบ้าง?
 มีการบำบัดรักษามาตรฐานของมะเร็งชนิดที่เป็นอยู่นี้ ทำอย่างไรบ้าง?
เกี่ยวกับการรักษา
 เราจะได้รับการรักษาแบบใด ระยะเวลานานเท่าใด?
 เราจะได้รับยากลุ่มใด?
 เราจะได้รับยาอย่างไร เช่น ฉีดหรือกิน เป็นต้น?
 เราจะได้รับการรักษาที่ใด?
 การรักษาแต่ละคอร์สจะใช้เวลานานเท่าใด?
เกี่ยวกับผลข้างเคียง
 ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างเคมีบำบัดมีอะไรบ้าง และเกิดขึ้นเมื่อไร? ผลข้างเคียงแบบใดที่น่าจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดสำหรับมะเร็งชนิดที่เราเป็นอยู่ มีผลข้างเคียงอะไรบ้างที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ควรจะรีบรายงานให้ทราบโดยเร็วที่สุด ผู้ป่วยควรปฎิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้อาการข้างเคียงของเคมีบำบัดดีขึ้นหรือหายไป
เกี่ยวกับการติดต่อบุคลากรทางการแพทย์
 ควรถามถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่คุณสามารถติดต่อได้เมื่อประสบปัญหาหรือพบข้อสงสัยระหว่างการรักษา
ข้อแนะนำในการปรึกษาแพทย์
 นำเพื่อนหรือคนในครอบครัวไปกับคุณเมื่อแพทย์ บุคคลเหล่านี้จะช่วยทำความเข้าใจสิ่งที่แพทย์แนะนำและยังช่วยเตือนความทรงจำคุณอีกด้วย
 ขอรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับการรักษามะเร็งจากแพทย์ของคุณ
 คุณหรือคนใกล้ตัวสามารถที่จะจดบันทึกสิ่งสำคัญระหว่างที่พบแพทย์
 คุณสามารถบอกแพทย์ให้พูดช้าลงในขณะที่คุณจดบันทึก
 อย่ากลัวที่จะถามคำถามคุณหมอ นางพยาบาล และเภสัชกร ได้มากเท่าที่คุณต้องการ ถ้าคุณไม่เข้าใจคำตอบ คุณสามารถถามได้จนกว่าคุณจะเข้าใจ

จากคู่มือการดูแลตัวเองของผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ดอกมาร์กาเร็ต


เข้าสู่ต้นฤดูหนาวกันแล้ว มาหาไม้ดอกสำหรับฤดูหนาวมาลองปลูกกันบ้าง ช่วยเพื่อบรรยากาศในบ้านของเราให้สดชื่นเพิ่มมากขึ้น ขอแนะนำดอกมาร์กาเร็ต ที่มีสีม่วงและขาว จริงๆแล้วก็ปลูกได้ทุกฤดู แต่ในฤดูหนาวจะสวยเป็นพิเศษ หาพันธ์ุมาปลูกกันเลยค่ะ
ต้นมาร์กาเร็ต ชื่อวิทยาศาสตร์ ASTER NOVIBELGII L., MICHAELMAS DAISY  วงศ์ COMPOSITAE ต้นมาร์กาเร็ตเป็นพืชล้มลุกอายุยืนหลายปี ลำต้นเป็นแบบไหลทอดเลื้อยตามพื้นดินมีข้อปล้องสั้นและสามารถงอกต้นใหม่ได้ตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปใบหอกปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักซี่ฟัน ใบออกแบบเรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อ มีสีม่วงและขาว ออกดอกได้ตลอดทั้งปี
การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการแยกต้น
การปลูก ปลูกกับดินร่วน ให้น้ำสม่ำเสมอ ชอบแสงแดด
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ













มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาเคมีบำบัดกันเถอะ



เคมีบำบัดคืออะไร ?
เคมีบำบัด คือ การรักษามะเร็งด้วยยาซึ่งสามารถที่จะทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งยาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเรียก " ยาต้านมะเร็ง"
กระบวนการเคมีบำบัดทำงานอย่างไร?
 เซลล์ปกติในร่างกายจะมีอายุของเซลล์โดยเมื่อถึงเวลาร่างกายจะสามารถกำจัด กำหนดให้เซลล์เหล่านั้นตายได้ตามระยะเวลาที่ร่างกายเป็นตัวกำหนด แต่เมื่อเซลล์เกิดความผิดปกติ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตและจะพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็. ยาต้านมะเร็งจะทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการหยุดยั้งมันไม่ให้เจริญเติบโตหรือแบ่งตัวซึ่งเซลล์ปกติก็จะเป็นอันตรายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซลล์ที่แบ่งตัวได้เร็ว ซึ่งอันตรายที่เกิดขึ้นกับเซลล์ที่ปกตินี้ เราเรียกว่า " ผลข้างเคียง" แต่เซลล์เหล่านี้มักจะซ่อมแซมตัวเองได้ภายหลังการให้เคมีบำบัด
 การใช้ยาบางตัวสามารถให้ผลการรักษาที่ดีกว่าเมื่อใช้ร่วมกับตัวอื่นมากกว่าตัวมันอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึงมีการให้ยาสองหรือสามตัวในเวลาเดียวกัน ซึ่งเราเรียกว่า Combination chemotherapy
 มียาอีกบางจำพวกที่ใช้ในการรักษามะเร็งโดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายหรือแพทย์อาจจะใช้ " Biological therapy" ซึ่งเป็นการรักษาโดยใช้สารเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกันของระบบร่างกายเพื่อต้านมะเร็ง ร่างกายคนปกติจะสร้างสารเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้วแต่มีในปริมาณน้อย โดยร่างกายจะผลิตมาเพื่อต้านมะเร็งและโรคต่าง ๆ ปัจจุบันสารเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นได้ในห้องทดลองและให้กับคนไข้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดเนื้อร้าย สารเหล่านี้อาจช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองหรือกระทั่งทำให้เซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่ถูกทำลายโดยเคมีบำบัด

เคมีบำบัดสามารถทำอะไรได้บ้าง
 ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและระยะอาการของโรค เคมีบำบัดสามารถใช้เพื่อจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน
 เพื่อรักษามะเร็ง โดยจะประเมินว่ามะเร็งถูกรักษาแล้วเมื่อไม่สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งในคนไข้
เพื่อควบคุมมะเร็ง สามารถกระทำโดยควบคุมเซลล์มะเร็งไม่ให้แพร่กระจาย ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตช้าลง และฆ่าเซลล์มะเร็งซึ่งอาจจะลามไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
เพื่อบรรเทาอากรที่เกิดขึ้นจากการเป็นมะเร็ง เช่น อาการเจ็บปวด เพื่อช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เราจะได้รับเคมีบำบัดเป็นจำนวนและเวลานานเท่าใด?
เราจะได้รับเคมีบำบัดเป็นจำนวนและนานเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับ
ชนิดของมะเร็งที่เป็น
จุดมุ่งหมายการรักษา
ชนิดของยาที่ใช้
ร่างกายของผู้ป่วยตอบสนองต่อยามากน้อยแค่ไหน
 เราอาจได้รับเคมีบำบัดทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และผู้ป่วยมักจะได้รับเคมีบำบัดเป็นรอบ ๆ ซึ่งประกอบด้วยช่วงรักษาและช่วงพัก ช่วงพักตัวจะช่วยให้ร่างกายสร้างเซลล์ใหม่ที่แข็งแรงและเพิ่มพละกำลัง
เราสามารถรับประทานยาอื่นใดได้หรือไม่ในขณะรับเคมีบำบัด?
 ยาบางตัวอาจจะมีปฎิกิริยาตอบสนองหรือต่อต้านต่อเคมีบำบัด ให้คุณรายงานรายละเอียดยาที่คุณใช้อยู่ทั้งหมดแก่แพทย์ก่อนได้รับเคมีบำบัด รวมถึง ชื่อของยาที่ใช้ ปริมาณยาที่ใช้ เหตุผลที่ใช้ยา ความถี่ที่คุณรับยา โปรดรายงานแพทย์ถึงการรักษาที่คุณได้รับทั้งหมดก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึง วิตามิน ยาระบาย ยาสำหรับแก้แพ้ ยาช่วยย่อย ยาแก้หวัด แก้ไข้ ยาแก้ไข้แก้ปวด เช่น Aspirin
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเคมีบำบัดที่ได้รับ ได้ผลหรือไม่?
 แพทย์และพยายาลจะใช้วิธีการต่าง ๆ ในการประเมินผลว่าเคมีที่ได้รับนั้นได้ผลหรือไม่ คุณอาจจะได้รับการสอบถามและการทดสอบทางกายภาพบ่อยครั้งโปรดอย่าลังเลที่จะถามแพทย์เกี่ยวกับผลการรักษาและความก้าวหน้าของอาการ

จากคู่มือการดูแลตัวเองของผุ้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด



วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

จะทำอย่างไร เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง



การเตรียมพร้อมตนเองก่อนการรักษามะเร็ง
 ควรแจ้งญาติให้ทราบและปรึกษาแพทย์รวมถึงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์พร้อมทั้งถามถึงกระบวนการรักษา อย่ากังวลที่จะถามถึงรายละเอียดการรักษา และควรถามถึงการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้ารับการรักษาต้องทำตัวอย่างไร การเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง พร้อมที่จะเข้ารับการรักษาให้มากที่สุด โดยวิธีง่าย ๆ ได้แก่
1. มองโลกในแง่ดี
 ผู้ป่วยควรมองโลกในแง่ดี ปรึกษาปัญหาที่กังวลกับบุคลากรทางการแพทย์หรือเพื่อนผู้ป่วยที่เคยผ่านการรักษามาแล้ว รวมถึงการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
2. อาหารครบถ้วน
 หากผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วนก่อนทำการรักรักษาแล้วจะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันเนื้อเยื่อส่วนที่ดีจากการถูกทำลายจากการรักษา และยังช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันการติดเชื้อได้
3. อาหารว่าง
 ในระหว่างการรักษาร่างกายผู้ป่วยมักจะมีความต้องการพลังงานและโปรตีนมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นควรมีการจัดอาหารว่างเสริมเพื่อป้องกันน้ำหนักตัวลดลงและช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยอาหารว่างที่จะจัดขึ้น ควรเป็นแบบที่รับประทานง่ายมีพลังงานสูง
 รับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
 อาหารว่างควรให้พลังงานจากโปรตีนและให้หลากหลาย เช่น โยเกิร์ต ธัญพืชใส่นม แซนวิช ซุปข้น ข้าวตังหน้าตั้ง ไข่หวานใส่น้ำขิง และกระทงทอง เป็นต้น
 หลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งเสริมให้อาการข้างเคียงแย่ลง เช่น หากมีอาการท้องเสียไม่ควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวโพดคั่ว ผลไม้สด และผักสด เป็นต้น หรือถ้ามีแผลในช่องปากไม่ควรรับประทานอาหารที่มีลักษณะเป็นกรด เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เป็นต้น



จากหนังสือคู่มือการดูแลตัวเองของผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด

วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปลูกผักสวนครัวกันเถอะ ( ย่านาง )



ย่านาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tiliacora triandra ( Colebr. )  Diels วงศ์ Menispermaceae ย่านางเป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นเป็นเถากลมมีสีเขียว มีความยาว 10-15 เมตร ชอบเลื้อยพันต้นไม้หรือค้างที่เราทำให้และมีเหง้าอยู่ในดิน
ใบของย่านาง เป็นใบเดี่ยว ใบหนาสีเขียวเข้มเป็นมัน เรียงแบบสลับ เป็นรูปไข่ ยาว6 - 12 เซนติเมตร ใบกว้าง 4 - 6 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม โคนใบมน
ดอกออกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามข้อและซอกใบ ดอกมีสีเหลือง มีผลออกเป็นกลุ่ม ผลดิบสีเขียวเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกออกเดือนมีนาคมถึงเมษายน
การขยายพันธุ์ โดยการชำหัวเหง้าใต้ดินและการเพาะเมล็ด ปลูกได้กับดินทั่วไป ชอบแสงแดด และให้น้ำสม่ำเสมอ
ประโยชน์ใช้ในการประกอบอาหาร เช่นใช้ใบคั้นน้ำใส่ในแกงหน่อไม้ หรือซุปหน่อไม้ และใช้เป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย เช่นใช้ราก ต้นน้ำใช้แก้ไข้ เป็นต้น