วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ว่านนกคุ้ม



บล็อกนี้มาชวนเพื่อน ๆ ปลูกว่านนกคุ้มกัน ได้ว่านต้นนี้มาอย่างบังเอิญ ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกำลังจะย้ายบ้านจึงไม่สามารถนำต้นไม้ไปปลูกด้วยได้ จึงยกว่านต้นนี้และต้นไม้อื่น ๆอีกหลายอย่างชนิดให้มา ว่านต้นนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ใบมีลายใบที่สวยมาก และดอกที่น่ารักสีชมพูลองหามาปลูกกันนะค่ะ

ว่านนกคุ้ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Eurycle amboinensis ( Loud )  วงศ์ Amaryllidacea
ว่านนกคุ้มเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีหัวใต้ดินที่เรียกว่าเหง้า แบบกระชายใช้สะสมอาหารไว้ใต้ดิน
ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงซ้อนสลับเป็นวงกลม ใบกลมปลายใบแหลมเล็กน้อยใบมีลายที่สวยงาม ( ดังภาพ )
ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีชมพู ดอกออกปีละครั้ง
การขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อหรือเหง้า ปลูกในดินร่วนปนทราย รดน้ำพอชุ่มชอบแสงแดดร่ำไร จะมีการพักต้นในช่วงหน้าแล้งไม่ต้องรดน้ำปล่อยทิ้งไว้แบบนั้นในกระถาง เมื่อถึงฤดูฝนได้รับน้ำฝนต้นก็จะงอกมาใหม่ทั้งดอกและใบอย่างสวยงาม เป็นต้นไม้ที่น่ารักอีกต้นที่มาชวนให้ปลูกกันนะค่ะ














วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โรคตับอักเสบ




โรคตับอักเสบ
ตับเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายตำแหน่งของตับอยู่ติดกับกระบังลมในช่องท้อง ใต้ชายโครงด้านขวา

หน้าที่ของตับ
ตับมีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง จะเห็นได้ว่าอาหารที่เรากินเข้าไปจะถูกย่อยและดูดซึมที่ผนังลำไส้ ลำเลียงผ่านไปตามเส้นเลือดดำเข้าสู่ตับ แล้วส่งไปเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย บางส่วนจะถูกเก็บไว้ในตับ บางส่วนจะเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายมีกำลัง นอกจากนี้ตับยังมีหน้าสร้างเม็ดเลือดในเด็ก ทำลายเม็ดเลือดในวัยเติบโต สร้างน้ำดีและยังมีหน้าที่เปลี่ยนสารพิษ รวมทั้งนาต่าง ๆ ที่กินเข้าไปให้เป็นสารไม่มีพิษ แล้วขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ตับช่วยสร้างสารที่ช่วยให้เลือดหยุดง่ายขณะที่มีบาดแผล ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต่อสู้และป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย

โรคตับอักเสบ ( ดีซ่าน ) เป็นโรคที่พบบ่อย เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ กัน
1. จากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเอ, บี, ไม่ใช่เอ - ไม่ใช่บี, เริม, งูสวัด, คางทูม, หัดเยอรมัน ฯลฯ
2. จากการดื่มเหล้า
3. จากสารเป็นพิษและยาบางชนิด
4. จากโรคติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ตลอดจนพยาธิต่าง ๆ

ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบมีหลายชนิด เช่นไวรัสที่ทำให้เกิดเริม งูสวัด คางทูม หัดเยอรมัน แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในบ้านเราคือ ไวรัสเอ, บี และนันเอ-บี

 การติดต่อ เชื้อโรคจะอยู่ในอุจจาระหรือมีเชื้อไวรัสอยู่ เช่น อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารทะเล ผักสดที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด น้ำและน้ำแข็งที่ไม่สะอาด เป็นต้น

กลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอสูงคือ ผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด การสุขาภิบาลไม่ดี เช่น สถานเลี้ยงเด็ก กองทหาร เป็นต้น

ไวรัสตับอักเสบชนิดบี
เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับและเป็นสาเหตุของมะเร็งเซลล์ตับผู้ที่เป็นจะมีเชื้อหลบอยู่ในร่างกายและเป็นสาเหตุของตับอักเสบเรื้อรังได้

การติดต่อ ส่วนใหญ่เกิดจากมารดาที่มีเชื้อไวรัสขณะตั้งครรภ์และเชื้อไวรัสนี้ติดต่อไปยังทารกในขณะคลอด ( ทารกที่เกิดจากมารดาที่มีเชื้อไวรัสบี จะกลายเป็นโรคตับอักเสบและเป็นพาหะเรื้อรังได้ )  หรืออาจเกิดจากการได้รับเลือดการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสบี โดยเฉพาะพวกรักร่วมเพศ นอกจากนี้อาจเกิดจากเข็มที่มีเชื้อติดอยู่ การฝังเข็มด้วยเข็มที่ไม่สะอาด การสักตามตัว การใช้แปรงสีฟันและการใช้มีดโกนร่วมกับผู้ที่มีเชื้อโรค

หญิงตั้งครรภ์ที่เจาะเลือดพบไวรัสบี ควรมาพบแพทย์ตามนัดหลังหลอดแพทย์จะฉีดภูมิคุ้มกันโรคให้ทารก ซึ่งต้องฉีดเป็นระยะ ๆ เมื่ออายุแรกเกิด 1 เดือน, 6 เดือน หรืออาจฉีดเมื่ออายุแรกเกิด 1 เดือน, 2 เดือน และ 12 เดือนก็ได้ แล้วแต่ชนิดของวัคซีน ควรฉีดยาตามแพทย์นัดให้ครบ เพื่อให้ทารกสร้างภูมิคุ้มกันได้พอเพียง การป้องกันจึงจะได้ผลดี หลังคลอดมารดาสามารถให้นมบุตรได้

 ตับอักเสบที่เกิดจากไวรัส นันเอ-บี ส่วนใหญ่ติดต่อทางเลือดและผลิตผลจากเลือดที่มีเชื้อนี้อยู่
 การแพร่เชื้อ เชื้อโรคอาจอยู่ในน้ำลาย เลือด น้ำอสุจิ อุจจาระ บางตัวอาจทำให้เด็กทารกพิการ เช่น หูหนวก สมองเสื่อมได้

 การติดต่อ จากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรค การได้รับเลือด การสัมผัสใกล้ชิด การร่มเพศ และหญิงตั้งครรภ์ที่ถ่ายทอดมายังทารกขณะคลอด

 อาการ โรคตับอักเสบไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใด จะมีอาการคล้ายคลืงกัน บางคนได้รับเชื้อโรคแล้วจะไม่มีอาการอะไรเลยแต่บางคนจะมีอาการหลังได้รับเชื้อ ( ถ้าเป็นเชื้อไวรัสเอ 15 - 40 วัน และ 50 - 80 วัน ถ้าเป็นเชื้อไวรัสบี ) อาการที่พบ คือ จะมีอาการคล้ายหวัด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ มีไข้ต่ำ ๆ อยู่ 2 - 3 วัน แล้วหายเองโดยไม่มีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลืองให้เห็น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะพบว่าเป็นตับอักเสบโดยบังเอิญ จากการตรวจร่างกายทั่วไป
 ผู้ป่วยบางรายไข้เริ่มลดลง จะมีตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มเหมือนขมิ้น ก่อนระยะเหลืองจะมีเชื้อไวรัสเอ ออกมากับอุจจาระจำนวนมาก ส่วนไวรัสบีและนันเอ- บี จะมีอยู่ในกระแสเลือด สารคัดหลั่งต่าง ๆ ซึ่งสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ บางรายอาการเหลืองไม่หายแต่กลับเหลืองมากขึ้น อุจจาระสีซีด คันตามตัว เพลียมากขึ้น ปวดท้องผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเป็นจำนวนมาก อาจมีอาการรุนแรง มีท้องและขาบวม พูดเลอะเลือน เพ้อ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาในการรักษานานเป็นเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ หรือบางรายตับอักเสบชนิดรุนแรงจนตับล้มเหลวทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แต่โชคดีที่ผู้ป่วยโรคตับอักเสบส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง มีเพียงจำนวนน้อยที่มีอาการรุนแรง
 ผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเกิน 6 เดือน ที่ยังมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารอาจมีหรือไม่มีตาเหลืองก็ได้ เรียกว่าผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังสามารถทำให้เกิดโรคตับแข็งในระยะหลาย ๆ ปีต่อมาได้ และมีโอกาสเป็นมะเร็งของเซลล์ตับได้มากกว่าคนปกติ

การดูแล
 เมื่อมีอาการดังกล่าวควรมาพบแพทย์ แต่ระยะเริ่มแรกเพื่อการวินิจฉัยโรค เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสนั้น ในปัจจุบันยังไม่มียากำจัดเชื้อไวรัสนี้ได้ แต่โรคนี้จะสงบลงได้เองเมื่อความต้านทานของร่างกายดีขึ้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ผู้ป่วยต้องประคับประคองตัวให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ซึ่งทำได้โดย
1. พักผ่อนอย่างจริงจังในระยะแรก ๆ ตับจะทำงานน้อยลง ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม โอกาสที่จะหายจากโรคเร็วขึ้น
2. อาหาร จะต้องกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ควรกินอาหารพวกแป้ง เช่น ข้าวต่าง ๆ ของหวาน น้ำหวาน เพราะย่อยและดูดซึมง่ายท้องไม่อืด อาหารพวกเนื้อสัตว์กินได้ แต่ไม่ควรมีไขมันมาก ปกติผู้ป่วยมักจะเบื่ออาหาร จึงควรฝืนใจกินเพื่อได้อาหารเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ ควรงดเครื่องดื่มประเภทสุรา เบียร์อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ตับอักเสบมากขึ้น
3. ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะจะเป็นอันตรายต่อตับ สำหรับยามีความสำคัญในการรักษาน้อย พวกวิตามินและยาบำรุงตับอาจใช้ได้บางส่วนเท่านั้น จึงขออย่าคิดว่าไม่ต้องพักผ่อน ไปทำงานและเล่นกีฬาตามปกติโดยหวังยาช่วยนั้น จะไม่ได้ผลเลย

การป้องกัน
 โดยรักษาอนามัยส่วนบุคคลและฉีดวัคซีนป้องกัน ( ซึ่งมีเฉพาะไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น )
1. ระมัดระวังในการกินอาหาร ต้องเป็นอาหารที่สุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ภาชนะที่ใส่สะอาด ใช้ช้อนกลาง
2. ล้างมือทุกครั้งก่อนจะกินอาหารและหลังอาหารและหลังจากออกจากห้องส้วม
3. อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด อาเจียนของผู้ป่วย เทลงส้วมที่ถูกต้องมิดชิด
4. ถ้ามีคนในบ้านเป็น ควรแยกเสื้อผ้า ของเครื่องใช้ในระยะติดต่อโรค ( ควรปรึกษาแพทย์ )
5. ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน เป็นต้น
6. ในรายที่จำเป็นต้องสัมผัสโรค เช่น สามีภรรยา บุตร ผู้ดูแลผู้ป่วยควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรฉีดหรือไม่
7. ใช้ถุงยางอนามัย ทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศกับผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคตับอักเสบ
8. หญิงตั้งครรภ์ควรมาฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ และเมื่ออายุครรภ์ได้ 6 เดือนขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาแอนติเจนไวรัสบี เพราะอาจติดถึงบุตรได้ ขณะตั้งครรภ์, คลอด, และการเลี้ยงดุ
9. ก่อนแต่งงานควรเจาะเลือดดูว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่คนในครอบครัว

ตับอักเสบจากการดื่มเหล้า
 พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ดื่มเหล้าอย่างน้อยวันละครึ่งขวดใหญ่ เป็นเวลานานเกิน 10 ปี สาเหตุเนื่องจากเหล้าไปลำลายเซลล์ตับโดยตรงและขาดอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบจากเหล้ามีอาการเบื่ออาหารอ่อนเพลีย 2-3 อาทิตย์ต่อมาจะเหลือง มีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา ถ้ารุนแรง อาจจะมีอาการบวม พูดเลอะเลือน เพ้อได้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบจากเหล้า  ต้องงดดื่มเหล้าโดยเด็ดขาดให้อาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ถ้ากลับไปดื่มอีกตับจะอักเสบขึ้นบ่อย ๆ ทำให้เนื้อตับถูกทำลาย และในที่สุดก็จะกลายเป็นโรคตับแข็ง

ตับอักเสบจากสาเหตุอื่น
นอกจากเชื้อไวรัสตับอักเสบและเหล้าแล้ว สาเหตุอื่นที่พบได้คือจากการกินยา เช่น ยารักษาโรค ยารักษาความดัน ยาสลบ ยาถ่าย ยาชุด เป็นต้น กล่าวคือ หลังจากกินยาแล้วผู้ป่วยมีอาการคล้ายตับอักเสบทั่วไป ดังกล่าวมาแล้ว
หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อโรคของอวัยวะอื่น ๆ เช่น เป็นโรคปอดบวม เป็นโพรงหนองในส่วนของร่างกาย แล้วเชื้อโรคแพร่กระจายไปตามหลอดเลือดและไปที่ตับ

จากสารพิษ พวกสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การผลิตน้ำมัน ผงซักฟอก ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู ฯลฯ
1. ตรวจเลือดซ้ำ หลังจากตรวจครั้งแรก 3 - 6 เดือน
2. งดดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยาที่จะเป็นอันตราย
3. พักผ่อนเพียงพอ อย่าทำงานหักโหม
4. ออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงมากหรือกีฬาที่ต้องแข่งขัน
5. รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่ควรปล่อยให้หิวมาก
6. รักษาสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล
7. งดสูบบุหรี่
8. งดใช้เครื่องใช้ส่วนตัวหรือของมีคมร่วมกับผู้อื่น
9. ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
10.ควรพาคู่สมรสและบุตรไปตรวจเลือด ถ้าพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกันแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกัน
11.งดบริจาคเลือดและอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนน้ำอสุจิที่ใช้ผสมเทียม
12.ถ้าไปรับการตรวจรักษาหรือทำฟันควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นโรค
13.ถ้ามีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเป็นระยะ ๆ

 การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ที่ได้ผลมี 2 แบบคือ ชนิด 3 เข็มและ 4 เข็ม
  ฉีด 3 เข็ม 2 เข็มแรกห่างกัน 1 เดือน และเข็มที่ 3ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน ( 0, 1, 6 )
 ฉีด 4 เข็ม 3 เข็มแรกห่างกันเข็มละ 1 เดือน และเข็มที่ 4 ห่างจากเข็มแรก 12 เดือน ( 0, 1, 2, 12, )
 การฉีดทั้งสองแบบอาจต้องฉีดซ้ำทุก 3 - 5 ปี

จากหนังสือ รายการกระจายเสียง วิทยุศึกษา เดือน ธันวาคม 2536หน้า 40 - 46