วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560

ความสุข 3 เวลา


สวัสดีปีใหม่กับเพื่อน ๆ ทุกนะค่ะ ขอให้มีแต่ความสุขกันทุก ๆคน บล็อกนี้ขอนำบทความดี ๆ จากวิทยุศึกษามาให้ได้อ่านกันค่ะ บทความเรื่อง ความสุข 3 เวลา ของ อิทิรา ปัทมินทร นักจิตวิทยา กองสุขภาพจิต กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดังต่อไปนี้ค่ะ

ความสุข 3 เวลา
หนึ่งในปัจจัย 4 ที่คนเราจะขาดเสียมิได้ก็คงจะเป็นอาหารนั่นเอง การที่เราต้องดิ้นรนทำงานหาเงินอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทั้งของตัวเองและของสมาชิกครอบครัว ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราเหลือจากนั้นจึงเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องบ้าน เรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เรื่องยารักษาโรค และเรื่องบำรุงความสุขอื่น ๆ

ท่านผู้อ่านคงเคยสังเกตเห็นว่าตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ บริเวณที่จะมีผู้คนหนาตาที่สุดก็คือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายอาหารทั้งแห้งและสดหรือไม่ก็บริเวณที่เรียกว่าฟู้ดเซ็นเตอร์ที่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จนานาชนิด

ร้านอาหารก็มีอยู่ทุกมุมถนนแต่ละร้านมักจะขายดิบขายดีจนต้องเปิดเป็นสาขาที่ 2 ที่ 3 บางทีถึงขนาดต้องไปเปิดถึงต่างประเทศก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย

เหล่านี้คงเป็นเรื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า อาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิตประจำวันของเรา

อาหารนอกจากจะเป็นแหล่งพลังงาน ช่วยสร้างความเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายแล้ว อาหารยังเป็นแหล่งที่ช่วยสร้างความสุขให้กับคนเราด้วย

งานเลี้ยง งานฉลองความสุขความสำเร็จต่าง ๆ จะต้องมีอาหารเป็นส่วนประกอบที่จะขาดเสียมิได้

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ง่าย ๆ  ว่า อาหาร การกิน และความสุขน่าจะไปกันได้ด้วยดี ถ้าเรามีอาหารกินครบวันละ 3 มื้อ เราก็น่าจะมีความสุขอย่างน้อยวันละ 3 เวลา

แต่ในความเป็นจริงแล้วมักจะไม่เป็นไปตามนั้น เพราะการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความเร่งรีบในปัจจุบัน ทำให้เราละเลยความสำคัญของความสุขที่น่าจะได้รับประทานอาหารไปอย่างน่าเสียดาย ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือเกิดโรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคกระเพาะอาหารจากความเคร่งเครียด รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ปวดท้อง ท้องเสียจากอาหารผิดสำแดง บางคนก็เบื่ออาหาร ซูบผอม ในขณะที่บางคนก็รับประทานมากเกินไปจนเป็นโรคอ้วนก็มีมาก

เราจึงน่าจะหันมาให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารให้มากขึ้นอีกสักหน่อยเพื่อความสุขในแต่ละวัน โดยลองพิจารณาตามแนวทางง่าย ๆ

1. ไม่ควรรับประทานอาหาร คนเดียว ถ้าอยู่ที่ทำงานก็ควรรับประทานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน ถ้าเป็นที่บ้านก็ควรรับประทานร่วมกับสมาชิกในครอบครัว การมีเพื่อนร่วมรับประทานอาหารที่ถูกใจกัน จะช่วยให้การรับประทานอาหารเป็นที่เพลิดเพลินมากขึ้น


2. ไม่ควรรีบเร่งขณะรับประทาน การรีบเคี้ยว รีบกลืนนอกจากจะเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดแล้ว ยังทำให้กระเพาะต้องทำงานหนัก ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เวลารับประทานอาหารจึงควรละวางเรื่องงานเอาไว้ก่อน ให้เวลากับอาหารมื้อต่าง ๆ ให้มากขึ้น มากพอที่จะรับรู้รสชาติความเอร็ดอร่อยของอาหารเสียบ้าง เพราะคนเรามีลิ้นเอาไว้รับรส จึงควรเปิดโอกาสให้ลิ้นของเราได้ทำหน้าที่ของมันบ้าง

3. เลือกรับประทานอาหารที่สะอาดและมีประโยชน์ต่อร่างกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรงถ้ารับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาจก่อให้เกิดทุกข์ตามมาภายหลังเช่น เป็นโรคพยาธิ ท้องเสีย เป็นบิด ฯลฯ หรือดื่มสุราเมาเป็นประจำ จะทำให้เป็นโรคกระเพาะและตับแข็ง ไม่มีความสุขแน่ ๆ

4. รับประทานอาหารให้เป็นเวลา โดยปกติคนเราจะรับประทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ คือเช้า กลางวัน และเย็น กระเพาะอาหารจะเกิดความเคยชินตามเวลานั้น ๆ หากรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา จะทำให้ปวดท้อง ไม่มีความสุข หรือการรับประทานจุบจิบ รับประทานมากมื้อเกินไป ก็อาจทำให้ท้องอืดเฟ้อ โดยเฉพาะก่อนนอน ถ้ารับประทานอิ่มเกินไป อาจทำให้อึดอัด นอนไม่หลับ และอาจเกิดฝันร้ายได้ด้วย

5. จัดบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมในห้องรับประทานอาหารให่น่าดู น่าสบายตาสบายใจ เช่นอาจจะมีแจกันดอกไม้ มีเสียงเพลงเบา ๆ คงไม่มีใครรับประทานอาหารได้อย่างมีความสุขท่ามกลางเสียงด่าทอกัน หรือสถานที่สกปรก เต็มไปด้วยแมลงวัน หรืออยู่ท่ามกลางกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นแนวทางที่จะทำให้ท่านผู้อ่านมีความสุขกับการรับประทานอาหารค่ำ ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้อาหารมีรสชาติ รับประทานได้อย่างเพลิดเพลินแล้ว ยังจะทำให้การย่อยอาหารเป็นไปด้วยดีระบบขับถ่ายก็จะพลอยดีไปด้วยสุขทั้งใจ สุขทั้งกาย

บทความ " ความสุข 3 เวลา " ของ อิทิรา ปัทมินทร นักจิตวิทยา กองสุขภาพจิต กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จากหนังสือ รายการ กระจายเสียง ของวิทยุศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ฉบับ เดือนกุมภาพันธ์ 2534หน้า 13 - 15