วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560

โรคอ้วนและยาลดความอ้วน


บล็อกนี้นำบทความเรื่องโรคอ้วนและยาลดความอ้วนมาให้เพื่อน ๆอ่านกัน บทความดี ๆจากวิทยุศึกษาดังต่อไปนี้นะค่ะ

โรคอ้วนและยาลดความอ้วน
 ในสมัยก่อนผู้ที่มีรูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ แสดงถึงความเป็นผู้มีการกินดีอยู่ดี ปัจจุบันความคิดเช่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปไม่มีใครปรารถนาที่จะเป็นคนอ้วนยังถือว่าความอ้วนเป็นโรคชนิดหนึ่ง เพราะคนอ้วนมักจะเกิดความกังวลในรูปร่างของตนไม่มีความคล่องตัวในการทำงานแล้วยังมีแนวโน้นที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น ในปัจจุบันจึงเกิดสถานบริการลดความอ้วนขึ้นจำนวนมาก

 โรคอ้วน เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายเกิดการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกายที่จะนำไปใช้ในการทำงาน และซ่อมแซมเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ อาหารส่วนที่เหลือจะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งสาเหตุของโรคอ้วนมีด้วยกันหลายประการเช่นความบกพร่องของระบบประสาทส่วนกลาง กรรมพันธ์ุ ยา สภาวะแวดล้อมทางสังคม อาชีพ ลักษณะอาหารในท้องถิ่น ขาดการออกกำลังกาย ภาวะทางจิตใจซึ่งการกินเป็นความสุขอย่างหนึ่งเป็นต้น

 การลดความอ้วน สามารถกระทำได้หลายวิธี ที่นิยมปฎิบัติในปัจจุบันคือ การควบคุมอาหารการออกกำลังกาย และการรับประทานยาลดความอ้วน วิธีการควบคุมอาหารกระทำโดยรับประทานอาหารประเภทโปรตีน ( เนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมันติด )อาหารที่มีกากได้แก่ ผัก ผลไม้ ลดปริมาณอาหารที่ให้พลังงานสูงซึ่งได้แก่ ไขมัน แป้ง น้ำตาล น้ำอัดลม เบียร์ เหล้า ขนมหวาน รวมถึงผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก องุ่น ละมุด การรับประทานทุกมื้อไม่ควรงดมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะจะรับประทานชดเชยเมื่อมีอาการหิวจัดแล้วยังควรออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยอย่างสม่ำเสมอ เป็นการนำอาหารที่ได้รับเข้าไปเปลี่ยนแปลงใช้เป็นพลังงาน ทำให้เกิดหลงเหลือสะสมเป็นไขมันเพียงเล็กน้อยการออกกำลังยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพอนามัยให้แข็งแรงอีกด้วย ควรทำอย่างสม่ำเสมอและนานพอสมควร แต่ไม่ควรหักโหมเกินไป

 การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย เป็นวิธีการลดความอ้วนที่ได้ผลดีและปลอดภัย เนื่องจากเป็นการควบคุมปริมาณอาหารที่นำเข้าสู่ร่างกาย และเพิ่มการใช้พลังงานทำให้หลงเหลือสะสมเป็นไขมันเพียงเล็กน้อย แต่วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ทำได้ยากต้องอาศัยความตั้งใจ กำลังใจอย่างมาก มิฉะนั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้จึงมีการพยายามที่จะหาวิธีอื่นเข้ามาช่วย ซึ่งก็คือ การรับประทานยาลดความอ้วน

 ยาลดความอ้วน ที่ใช้กันในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกับยาแอมเฟตามีน ( amphetamine ) ซึ่งยานี้เป็นที่รู้จักกันในท้องตลาดว่า " ยาม้า " เป็นยากระตุ้นประสาท แก้ง่วง ยาลดความอ้วนเหล่านี้ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นศูนย์ควบคุมความหิวในสมองทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ด้วยเหตุที่ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์ต่อสมองโดยตรง จึงทำให้เกิดมีอาการไม่พึ่งประสงค์มากมาย เช่น อาการใจสั่น นอนไม่หลับ กระวนกระวายใจ ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ มึนงง และถ้าใช้ติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้เกิดติดยาและดื้อยาในที่สุด จะต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นเรื่อย ๆ จึงจะให้ผลการรักษาเท่าเดิม ซึ่งผลการรักษาเท่าเดิม ซึ่งผลของยาจะทำให้มีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คือ มีควาามหวาดระแวง ประสาทหลอนขึ้น ดังนั้นการใช้ยาลดความอ้วนควรหลีกเลี่ยงให้ผู้ที่มีแนวโน้มจะติดยาได้ง่าย เช่น คนติดเหล้า หรือผู้ที่มีอาการซึมเศร้า มีความเครียดสูง ปวดศรีษะ ไมมเกรน เพราะจะทำให้อาการรุนแรงเพิ่มขึ้นปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ยาเหล่านี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทซื้อขายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น

 นอกจากยาในกลุ่ม แอมเฟตามีนแล้ว มียาหลายชนิดที่ได้นำมาใช้ในการลดความอ้วนด้วย ตัวอย่างได้แก่ ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ ยาที่ทำให้อุจจาระรวมตัวเป็นก้อนในลำไส้ ( Bulk producing agent ) ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ควรนำมาใช้ในการลดความอ้วน เพราะไม่ค่อยได้ผลและอาจทำให้เกิดอันตรายในการใช้สูง ยาถ่าย ทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่จากร่างกาย ยาขับปัสสาวะ ทำให้น้ำหนักลดโดยการสูญเสียน้ำ แต่ไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณไขมันในเนื้อเยื่อ ยาที่ทำให้อุจจาระในลำไส้รวมตัวเป็นก้อน เช่น เมทธิล เซลลูโลส ( methyl Cellulose ) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เทียมเซลลูโลสจากผัก จะทำให้รู้สึกอิ่ม แต่มีผลระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร เป็นต้น

 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขอแนะนำวิธีการลดความอ้วนที่ดีและปลอดภัยคือ ควรใช้การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และที่สำคัญที่สุดจะต้องระลึกไว้เสมอว่า ยาลดความอ้วนเพียงอย่างเดียว ไม่มีประโยชน์ในการใช้ลดความอ้วน จะต้องใช้ร่วมไปกับวิธีการออกกำลังกายและการควบคุมอาหารด้วยจึงจะได้ผลดี

บทความจาก สคบ.สาร ปีที 10 ฉบับที่114 มิถุนายน 2532  จากหนังสือรายการกระจายเสียงวิทยุศึกษาฉบับ เดือนกันยายน 2533 หน้า 17 - 20