วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

โรคแผลในช่องปาก


โรคแผลในช่องปากมีสาเหตุหลายประการด้วยกัน แต่ที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ แผลร้อนใน ( Aphthous stomatitis ) เป็นแผลที่เกิดขึ้นในบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก บริเวณริมฝีปากด้านในหรือบริเวณกระพุ้งแก้ม พื้นของปากและเพดานอ่อน มักเกิดเป็นแผลแผลเดียว หรืออาจเกิดเป็นแผลในหลาย ๆ ตำแหน่งรวมกันได้ โดยเริ่มจากปื้นเล็ก ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ ขยายขึ้นจนเป็นแผลจะมีอาการเจ็บปวดลักษณะของแผลมักจะเป็นรูปวงกลม หรือรูปไข่ ขอบแผลมีสีแดงบวมและอักเสบนูนสูงขึ้น ตรงกลางจะมีเยื่อสีเทา ๆ ปกคลุมอยู่ แผลจะเจ็บมากในระยะ 2 ถึง 3 วันแรก และจะเป็นอยู่นาน 7 ถึง 15 วัน แล้วจะหายไปเอง

ส่วนสาเหตุของแผลในช่องปากชนิดนี้ เชื่อกันว่าเกิดจากความเครียด หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน หรือการขาดสารอาหาร คนโบราณมักเข้าใจว่าแผลในช่องปากนี้เกิดจากอาการที่เรียกว่าร้อนในที่เกิดขึ้นหลังจากเมื่อรับประทานอาหารที่มัน ๆ เช่น กล้วยแขกทอด ของทอดทุกชนิด ข้าวเหนียวมูล หรือเกิดจากการทานผลไม้บางชนิดเป็นจำนวนมาก ๆ เช่น ทุเรียน มะม่วง ลำใย เป็นต้น ซึ่งความเป็นจริงถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับประทานอาหารดังกล่าวนี้ ก็ยังเกิดเป็นแผลในช่องปากก็ได้

การรักษา ก็ต้องพยายามรักษาสุขภาพในช่องปากให้ดี การแปรงฟันก็ควรแปรงด้วยความระมัดระวัง อย่าให้แปรงไปกระแทกกับเหงือก หรือเยื่อบุภายในช่องปากแรงเกินไป เพราะอาจเกิดรอยซ้ำแล้วกลายเป็นแผลในช่องปากได้เช่นกัน สำหรับยาที่ใช้ก็เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดเป็นยาขี้ผึ้งใช้ทาเพื่อลดการอักเสบ โดยยาขี้ผึ้งนี้จะคลุมปิดบนแผลไว้ ทำให้อาการเจ็บปวดลงและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ถ้ามีแผลหลาย ๆ แผลก็ใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อรักษาสุขภาพในช่องปากและควรรักษาสุขภาพร่างกายทั่วไปให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอหลีกเลี่ยงความเครียด และควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็จะช่วยลดการเกิดแผลในช่องปากลงได้

โรคแผลในช่องปากมีสาเหตุหลายประการด้วยกัน นอกจากแผลร้อนในแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นอีกได้แก่
แผลที่เกิดจากเชื้อไวรัส ( Herpetic Stoatitis ) อาการของแผลในช่องชนิดนี้จะรู้สึกคันหรือเจ็บบริเวณที่จะเป็น ต่อมาจะเกิดตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นมากมาย ตุ่มน้ำใสนี้จะขยายใหญ่ขึ้นรวมกลุ่มกันและแตกกลายเป็นแผลตื้น ๆ อาการเหล่านี้จะหายเองได้ภายใน 10 ถึง 14 วัน สำหรับผู้ที่เคยเป็นแผลในปากจากเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้ว เชื้อไวรัสจะยังคงอยู่ในร่างกาย โดยเชื้อจะแอบอยู่ในระบบประสาท เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอลงจะปรากฏอาการเกิดแผลใหม่อีกเรื่อย ๆ ไป แต่อาการเจ็บปวดจะมีเพียงเล็กน้อย ซึ่งบางท่านอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแผลจากฟันกำลังขึ้นก็ได้ การติดต่อของโรคแผลในช่องปากจากเชื้อไวรัสนี้ ติดต่อโดยการสัมผัส

สาเหตุที่สามของการเกิดแผลในช่องปาก คือแผลที่เกิดจากเชื้อซิฟิลิส แผลในปากชนิดนี้ จะไม่ค่อยเจ็บ และจะหายเองได้ในระยะ 2 ถึง 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่นเป็นไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต การที่แผลซิฟิลิสหายเองได้ โดยไม่ได้รับการรักษา อย่าเข้าใจว่าโรคนี้หาย เพราะถ้าเจาะเลือดตรวจดูจะพบว่ามีเชื้อซิฟิลิสอยู่ในกระแสเลือดด้วย

สาเหตุที่สี่ แผลในช่องปากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อโกโนเรีย หรือเชื้อหนองใน มักพบในผู้ที่มีการร่วมเพศแบบวิตถาร คือชอบใช้ปาก ลักษณะตรงขอบแผลจะมีแผ่นคราบสีเหลือง ๆ ติดอยู่ซึ่งสามารถแกะออกได้ได้ง่าย แต่จะมีเลือดซึมออกมาด้วย การวินิจฉัยแผลชนิดนี้ต้องใช้วิธีการเพาะเชื้อพิเศษในรายที่สงสัยเท่านั้น

สาเหตุที่ห้า แผลในช่องปากที่เกิดจากเชื้อราแคนดิด้า ( Candidiasis ) มักพบในเด็กแรกเกิดและคนสูงอายุ หรือในคนที่ทานยาปฏิชีวนะนาน ๆ ร่างกายอ่อนแอ หรือได้รับยาในการรักษาโรคมะเร็งหรือได้รับการฉายรังสีรักษามานาน

สาเหตุที่หก แผลของโรคมะเร็ง แผลในช่องปากชนิดนี้จะเป็นอยู่นานโดยไม่หายในทางตรงกันข้ามแผลของโรคมะเร็งจะลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุสุดท้ายของแผลในช่องปากคือ แผลอื่น ๆ ที่ได้รับอันตรายจากการกัด หรือฟันที่คมเสียดสีบริเวณนั้นบ่อย ๆ ก็ทำให้เกิดแผลได้หรือจากการใส่ฟันปลอมที่ไม่ดี ก็เกิดแผลที่บริเวณที่กดทับหรือแผลที่เกิดจากการกระแทก เช่น การแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธี หรือการแปรงฟันแรงเกินไป

สาเหตุของการเกิดโรคแผลในช่องปากนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกันดังที่กล่าวแล้ว ท่านจึงควรสังเกตและหาสาเหตุการเกิดแผลในช่องปากแล้วพยายามหลีเลี่ยงสาเหตุนั้น ๆ ก็จะช่วยให้ท่านไม่ต้องเป็นโรคแผลในช่องปากได้ แต่บางสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์ บางท่านก็อาจจะถามว่าแล้วเมื่อไรจึงควรไปพบแพทย์ ท่านควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการดังนี้

1. เมื่อแผลในช่องปากเจ็บมากจนพูดหรือรับประทานอาหารไม่ได้
2. เมื่อมีแผลในช่องปากเรื้อรังไม่ยอมหายเป็นเวลานาน โดยเฉพาะแผลในช่องปากชนิดไม่เจ็บปวด หรือเป็นแผลชนิดลุกลามขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
3. เมื่อมีแผลในปาก พร้อมกับมีผื่นขึ้นตามตัวหรือมีอาการอื่นร่วมด้วย คือ มีไข้ ปวดข้อ ตาแดง ปัสสาวะขัด


ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆจากหนังรายการกระจายเสียงของวิทยุศึกษา เดือนกรกฏาคม 2536 หน้า41-44









มุกไม่ฮา...พาเพื่อนเครียดป่าวน้า...