วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปลูกผักสวนครัวกันเถอะ ( ตอน ผักกระสัง )




ต้นผักกระสัง ต้นเล็ก ๆ ที่ชอบขึ้นอยู่กับต้นไม้ที่เราปลูก บางครั้งก็ขึ้นในกระถางบาง นอกกระถางบางลองสังเกตดูกันนะค่ะในบริเวณกระถางต้นไม้ของเรา เขามาเองโดยที่เราไม่ได้ปลูก บล็อกนี้เรามารู้จักเขากันเถอะค่ะ

ผักกระสังชื่อวิทยาศาสตร์ Peperomia pellucida korth อยู่ในวงค์ PEREROMIAEAE ชื่อสามัญ Peperomia สามารถพบได้ทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศ
ลำต้นของผักกระสังเป็นลำต้นอวบน้ำและเปราะบาง ลำต้นมีสีเขียวอ่อน ๆ มีความสูงจากพื้นดินประมาณ 5 - 10 ซม.
ใบเป็นรูปหัวใจหนาขอบใบเรียบ
ดอกออกเป็นช่อ ดอกเป็นสีเขียวคล้ายปุ่มเล็ก ๆ เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเม็ดมักจะร่วงลงพื้นใกล้ ๆ ต้นแม่แล้วงอกใหม่ขึ้นมาเป็นต้นอ่อนเล็ก ๆ
ผักกระสังชอบดินที่มีความชุ่มชื่นและอยู่ในพื้นที่มีแสงร่ำไร ( ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะไม่ได้ปลูกเขาจะขึ้นเองตามใจชอบ  ^^ )
ประโยชน์ของผักกระสัง สามารถใช้เป็นผักสวนครัวกินกับน้ำพริกทั้งสดและแบบลวกหรือใส่ในแกงป่าและเป็นพืชสมุนไพรอีกด้วย




วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทำไม..กลั้นปัสสาวะไม่อยู่



ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ประสบกับปัญหา " กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ " ซึ่งปัญหานี้มักจะเกิดกับผู้สูงอายุที่มีลูกแล้ว
การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่มักจะเกิดหลังจาก ไอ จาม หัวเราะ หรือ ยกของหนัก ในบางรายแค่เพียงอากาศหนาว หรือจุ่มมือลงในน้ำเย็นก็จะมีความรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ บางครั้งเข้าห้องน้ำไม่ทัน ก็ต้องเปรอะเปื้อนกันไปอาจจะเพียงเล็กน้อยแต่ก็ทำให้น่ารำคาญต่อผู้มีอาการนี้

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเส้นประสาทที่เชื่อมต่อระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับท่อปัสสาวะส่วนหญิงสูงอายุที่ใกล้จะหมดรอบเดือนระดับฮอร์โมนต่าง ๆ จะลดลงทำให้ควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ลำบาก จึงเกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ถ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ จะทำให้ผู้เป็นเกิดปัญหาทางจิตได้ เนื่องจากไม่กล้าที่จะสังคมอายที่จะไปเปรอะเปื้อนให้คนอื่นรู้ ทำให้เก็บตัว หงุดหงิด และเครียดได้

การแก้ปัญหานี้ด้วยตนเองทำได้ โดยการบริหารอุ้งเชิงกราน ในเวลาที่ปัสสาวะไปได้สักครู่ ผู้เป็นควรฝึกขมิบช่องคลอด เพื่อให้ปัสสาวะหยุดไหล โดยใช้กล้ามเนื้อหูรูดของทางเดินปัสสาวะ อย่าไปเกร็งขาหรือกล้ามเนื้อหน้าท้อง เพราะว่าจะทำให้ไม่ได้ผล ขมิบช่องคลอดเพื่อกลั้นปัสสาวะไว้ประมาณ 2 - 3 นาที จากนั้นก็ปล่อยให้ปัสสาวะไหลตามปกติ แล้วทำซ้ำอีก การบริหารอุ้งเชิงกรานจะช่วยให้ควบคุมการกลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น
หากว่ามีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่บ่อย ๆ ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องพบแพทย์

บทความ  "ทำไม กลั้นปัสสาวะไม่อยู่" เรียบเรียงโดย ทิพาพร ถาวรแก้ว โครงการการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน ในหนังสือรายการกระจายเสียง วิทยุศึกษา เดือน มกราคม 2536  หน้า 44-45
ขอบคุณบทความดี ๆ จากวิทยุศึกษาค่ะ


วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เที่ยวงานตุ๊กตา dollpaca



บล็อกนี้พาเพื่อน ๆ เที่ยวชมงาน doll กันค่ะ คืองาน dollpaca dollprak and cafe ที่จัดขึ้นที่พาลาเดียม ประตูน้ำในวัน อาทิตย์ ที่ 9 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมานะค่ะ ภายในงาน มีการออกร้านขายของที่เกี่ยวกับน้องตุ๊กตาของเรา มีวิก หลายแบบ เสื้อผ้า กางเกง และ รองเท้า และของประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งน้องตุ๊กตาด้วย เรียกว่ามางานนี้งานเดียวก็ได้ของกลับไปครบเลยค่ะ มาชม ตุ๊กตาในงานกันเถอะค่ะ



























วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ปลูกผักสวนครัวกันเถอะ ( กระเจี๊ยบเขียว )


บล็อกนี้มาชวนเพื่อน ๆ ปลูกกระเจี๊ยบเขียวกัน ปลูกง่ายและอยู่ได้นานแค่หนึ่งหรือสองต้น ในกระถางนะค่ะ หรือลงแปลงค่ะ ดอกก็ยังสวยอีกด้วยนะค่ะ

กระเจี๊ยบเขียว ( Okra ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus esculentus ( L. ) Moench. วงศ์ Malvaceae ถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาตะวันตก
ลำต้นมีสีเขียวอ่อนมีขนคลุมทั่วต้น ลำต้นสูง 1 - 2 เมตร
ใบเป็นใบเดี่ยว เป็นแฉกปลายใบแหลม
ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวสีเหลือง ดอกออกตามซอกใบไล่จากล่างขึ้นบน
ฝักเป็นแท่งมีสันที่เป็นเหลี่ยมรอบ 5 เหลี่ยมปลายฝักแหลมเมื่อแก่ฝักจะแตกออกทำให้เมล็ดแก่แตกออกมา
การปลูกกับดินร่วนชอบแสงแดดตลอดวัน ปลูกได้ในกระถางหรือลงแปลง
ประโยชน์ ปลูกเป็นพืชสวนครัวและปลูกไว้เพื่อจำหน่ายได้ ใช้ฝักอ่อนเป็นผักเครื่องจิ้มกับน้ำพริกหรือใช้แกง เช่น แกงส้ม เป็นต้น











วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2559

โรคตาแดง


โรคตาแดงเป็นโรคตาที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ คือจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และภูมิแพ้ ทั้ง 3 สาเหตุ ทำให้เกิดอาการตาแดงได้คล้ายคลึงกัน แต่มีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกันจึงควรวินิจฉัยแยกโรค เพื่อให้การรักษาและการดูแลตนเองตนเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม

โรคตาแดงจากภูมิแพ้ ( Allergic Conjunctivitis )
   เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาที่เกิดจากการแพ้ เช่น แพ้เกสรดอกไม้ ฝุ่น ยา ควันบุหรี่ เป็นต้น มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และเป็นร่วมกับโรคภูมิแพ้ของอวัยวะอื่น เช่น น้ำมูกไหล หืด หรือผื่นแพ้ที่ผิวหนัง เมื่อเป็นติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้เป็นต้อลมและต้อเนื้อได้



อาการสำคัญคือ คันตามากโดยเฉพาะตรงบริเวณหัวตา, ตาแดงเรื่อ ๆ มักจะเป็นสองข้าง, ระคายเคืองตา,  ตาบวม, มีน้ำตาไหล, มีเมือกหรือขี้ตาใส ๆ

การป้องกันและรักษาคือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการแพ้, ประคบเย็น, เพื่อลดอาการบวม, ใช้ยาหยอดตาแก้แพ้ ยาหยอดตาลดการอักเสบ และยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน

*** ตาแดงชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดการติดต่อ ถ้าไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย

โรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรีย ( Bacterial Conjunctivitis )
  เป็นการอัเสบของเยื่อบุตาที่เกิดจากการติดเชื้อ S.epidermidis, S.aureus

อาการสำคัญคือ มีอาการตาแดงไม่มาก มีขี้ตามากสีเขียวปนเหลือง ทำให้เปิดตาลำบากในตอนเช้ามักจะไม่มีอาการปวดตาหรือเคืองตา ไม่มีอาการคันอาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ บางรายมีไข้ร่วมด้วย

การรักษาคือ ใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดเปลือกตา เพื่อให้ขี้ตาอ่อนตัวลง, ใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะและอาจใช้ยาหยอดตาแก้แพ้ร่วมด้วย

โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส ( Viral Conjunctivitis )
  เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม adenovirus พบบ่อยในเด็กเล็ก ๆ มักระบาดในฤดูฝนและแพร่ระบาดได้ง่ายตามชุมขน โรงเรียน ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก ก็อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
อาการสำคัญคือ เยื่อบุตาขาวจะอักเสบแดงมาก ปวดตา เคืองตา มีน้ำตาไหล กลัวแสง ต่อมน้ำเหลืองหลังหูมักเจ็บและบวม มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วติดต่อมายังตาอีกข้าง
การรักษา จะรักษาตามอาการของโรค เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสยังไม่มียาฆ่าไวรัสนี้โดยตรง ถ้ามีขี้ตามากอาจหยอดยาปฏิชีวนะ ถ้ามีไข้ เจ็บคอ ก็ใช้ยาแก้อักเสบร่วมกับยาลดไข้ ยาลดปวด แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้นต้องรีบไปพบแพทย์

โรคตาแดงติดต่อกันได้อย่างไร ?
 โรคตาแดงมักระบายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันอย่างแออัด โดยส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับน้ำตา ขี้ตา ของผู้ป่วย หรือคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยตรงหรืออาจติดต่อทางอ้อมได้โดย

- ใช้มือสกปรกที่มีเชื้อโรคขยี้ตา
- ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา เครื่องสำอางค์ และของใช้อื่น ๆ ร่วมกับผู้ที่เป็นโรค
- แมลงวันหรือแมลงหวี่มาตอมตา

*** ทั้งนี้โรคตาแดง จะไม่ติดต่อทางการสบตา ทางอากาศหรือรับประทานอาหารร่วมกัน และอาการต่าง ๆ จะเกิดได้ภายใน 1 - 2 วัน และระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน

เมื่อเป็นโรคตาแดงควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
- ควรหยุดเรียนหรือหยุดทำงานประมาณ 1 - 2 สัปดาห์หรือจนกว่าอาการตาแดงจะหายเป็นปกติ และไม่ควรไปอยู่ในที่ชุมชน เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า หรือลงเล่นน้ำในสระ เพราะอาจนำโรคไปแพร่ติดต่อสู่ผู้อื่นได้
- เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำหรือพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากถูกตาและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
- ควรพักสายตา ไม่ใช่สายตามากนัก และพยายามรักษาสุขภาพ
พักผ่อนมาก ๆ ไม่ควรทำงานดึกควรนอนให้เพียงพอ
- ไม่จำเป็นต้องปิดตาไว้ตลอด ยกเว้น มีกระจกตาอักเสบ จึงปิดตาเป็นครั้งคราว
- แยกของใช้ส่วนตัว อย่าให้ผู้อื่นใช้ร่วมด้วย
- ควรใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคือง
- งดใส่คอนแทกเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบ
- หากใช้กระดาษนุ่มซับน้ำตาหรือขี้ตาแล้ว ควรทิ้งในถังขยะที่มิดชิด

มีวิธีป้องกันไม่ให้ติดโรคตาแดงไหม ?
 โรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล ได้แก่
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่อยู่เสมอ ไม่่ใช้มือที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดขยี้ตา
- เมื่อฝุ่นละอองหรือผงเข้าตาไม่ควรขยี้ตา ให้ล้างด้วยน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว
- ในสถานที่ที่คนอยู่รวมกันอย่างแออัด ควรจัดหาน้ำสะอาดให้เพียงพอ สำหรับการล้างมือ ล้างหน้าและใช้อาบ
- ไม่ใช้สิ่งของ เช่น เครื่องสำอางค์ แว่นตา ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ ถ้วยล้างตาหรือยาหยอดตา ร่วมกับผุ้อื่น โดยเฉพาะเมื่อมีโรคตาแดงระบาดต้องระวังให้มากยิ่งขึ้น
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ให้สะอาดอยู่เสมอ

ขอบคุณความรู้ดี ๆ จากแผ่นพับที่จัดทำโดย งานสุขาภิบาลและควบคุมโรค โรงพยาบาลบางจากสนับสนุนโดย กองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลเมืองลัดหลวง

                                                                   


วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ว่านนกคุ้ม



บล็อกนี้มาชวนเพื่อน ๆ ปลูกว่านนกคุ้มกัน ได้ว่านต้นนี้มาอย่างบังเอิญ ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกำลังจะย้ายบ้านจึงไม่สามารถนำต้นไม้ไปปลูกด้วยได้ จึงยกว่านต้นนี้และต้นไม้อื่น ๆอีกหลายอย่างชนิดให้มา ว่านต้นนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ใบมีลายใบที่สวยมาก และดอกที่น่ารักสีชมพูลองหามาปลูกกันนะค่ะ

ว่านนกคุ้ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Eurycle amboinensis ( Loud )  วงศ์ Amaryllidacea
ว่านนกคุ้มเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีหัวใต้ดินที่เรียกว่าเหง้า แบบกระชายใช้สะสมอาหารไว้ใต้ดิน
ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงซ้อนสลับเป็นวงกลม ใบกลมปลายใบแหลมเล็กน้อยใบมีลายที่สวยงาม ( ดังภาพ )
ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีชมพู ดอกออกปีละครั้ง
การขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อหรือเหง้า ปลูกในดินร่วนปนทราย รดน้ำพอชุ่มชอบแสงแดดร่ำไร จะมีการพักต้นในช่วงหน้าแล้งไม่ต้องรดน้ำปล่อยทิ้งไว้แบบนั้นในกระถาง เมื่อถึงฤดูฝนได้รับน้ำฝนต้นก็จะงอกมาใหม่ทั้งดอกและใบอย่างสวยงาม เป็นต้นไม้ที่น่ารักอีกต้นที่มาชวนให้ปลูกกันนะค่ะ














วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โรคตับอักเสบ




โรคตับอักเสบ
ตับเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายตำแหน่งของตับอยู่ติดกับกระบังลมในช่องท้อง ใต้ชายโครงด้านขวา

หน้าที่ของตับ
ตับมีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง จะเห็นได้ว่าอาหารที่เรากินเข้าไปจะถูกย่อยและดูดซึมที่ผนังลำไส้ ลำเลียงผ่านไปตามเส้นเลือดดำเข้าสู่ตับ แล้วส่งไปเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย บางส่วนจะถูกเก็บไว้ในตับ บางส่วนจะเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายมีกำลัง นอกจากนี้ตับยังมีหน้าสร้างเม็ดเลือดในเด็ก ทำลายเม็ดเลือดในวัยเติบโต สร้างน้ำดีและยังมีหน้าที่เปลี่ยนสารพิษ รวมทั้งนาต่าง ๆ ที่กินเข้าไปให้เป็นสารไม่มีพิษ แล้วขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ตับช่วยสร้างสารที่ช่วยให้เลือดหยุดง่ายขณะที่มีบาดแผล ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต่อสู้และป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย

โรคตับอักเสบ ( ดีซ่าน ) เป็นโรคที่พบบ่อย เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ กัน
1. จากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเอ, บี, ไม่ใช่เอ - ไม่ใช่บี, เริม, งูสวัด, คางทูม, หัดเยอรมัน ฯลฯ
2. จากการดื่มเหล้า
3. จากสารเป็นพิษและยาบางชนิด
4. จากโรคติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ตลอดจนพยาธิต่าง ๆ

ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบมีหลายชนิด เช่นไวรัสที่ทำให้เกิดเริม งูสวัด คางทูม หัดเยอรมัน แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในบ้านเราคือ ไวรัสเอ, บี และนันเอ-บี

 การติดต่อ เชื้อโรคจะอยู่ในอุจจาระหรือมีเชื้อไวรัสอยู่ เช่น อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารทะเล ผักสดที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด น้ำและน้ำแข็งที่ไม่สะอาด เป็นต้น

กลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอสูงคือ ผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด การสุขาภิบาลไม่ดี เช่น สถานเลี้ยงเด็ก กองทหาร เป็นต้น

ไวรัสตับอักเสบชนิดบี
เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับและเป็นสาเหตุของมะเร็งเซลล์ตับผู้ที่เป็นจะมีเชื้อหลบอยู่ในร่างกายและเป็นสาเหตุของตับอักเสบเรื้อรังได้

การติดต่อ ส่วนใหญ่เกิดจากมารดาที่มีเชื้อไวรัสขณะตั้งครรภ์และเชื้อไวรัสนี้ติดต่อไปยังทารกในขณะคลอด ( ทารกที่เกิดจากมารดาที่มีเชื้อไวรัสบี จะกลายเป็นโรคตับอักเสบและเป็นพาหะเรื้อรังได้ )  หรืออาจเกิดจากการได้รับเลือดการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสบี โดยเฉพาะพวกรักร่วมเพศ นอกจากนี้อาจเกิดจากเข็มที่มีเชื้อติดอยู่ การฝังเข็มด้วยเข็มที่ไม่สะอาด การสักตามตัว การใช้แปรงสีฟันและการใช้มีดโกนร่วมกับผู้ที่มีเชื้อโรค

หญิงตั้งครรภ์ที่เจาะเลือดพบไวรัสบี ควรมาพบแพทย์ตามนัดหลังหลอดแพทย์จะฉีดภูมิคุ้มกันโรคให้ทารก ซึ่งต้องฉีดเป็นระยะ ๆ เมื่ออายุแรกเกิด 1 เดือน, 6 เดือน หรืออาจฉีดเมื่ออายุแรกเกิด 1 เดือน, 2 เดือน และ 12 เดือนก็ได้ แล้วแต่ชนิดของวัคซีน ควรฉีดยาตามแพทย์นัดให้ครบ เพื่อให้ทารกสร้างภูมิคุ้มกันได้พอเพียง การป้องกันจึงจะได้ผลดี หลังคลอดมารดาสามารถให้นมบุตรได้

 ตับอักเสบที่เกิดจากไวรัส นันเอ-บี ส่วนใหญ่ติดต่อทางเลือดและผลิตผลจากเลือดที่มีเชื้อนี้อยู่
 การแพร่เชื้อ เชื้อโรคอาจอยู่ในน้ำลาย เลือด น้ำอสุจิ อุจจาระ บางตัวอาจทำให้เด็กทารกพิการ เช่น หูหนวก สมองเสื่อมได้

 การติดต่อ จากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรค การได้รับเลือด การสัมผัสใกล้ชิด การร่มเพศ และหญิงตั้งครรภ์ที่ถ่ายทอดมายังทารกขณะคลอด

 อาการ โรคตับอักเสบไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใด จะมีอาการคล้ายคลืงกัน บางคนได้รับเชื้อโรคแล้วจะไม่มีอาการอะไรเลยแต่บางคนจะมีอาการหลังได้รับเชื้อ ( ถ้าเป็นเชื้อไวรัสเอ 15 - 40 วัน และ 50 - 80 วัน ถ้าเป็นเชื้อไวรัสบี ) อาการที่พบ คือ จะมีอาการคล้ายหวัด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ มีไข้ต่ำ ๆ อยู่ 2 - 3 วัน แล้วหายเองโดยไม่มีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลืองให้เห็น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะพบว่าเป็นตับอักเสบโดยบังเอิญ จากการตรวจร่างกายทั่วไป
 ผู้ป่วยบางรายไข้เริ่มลดลง จะมีตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มเหมือนขมิ้น ก่อนระยะเหลืองจะมีเชื้อไวรัสเอ ออกมากับอุจจาระจำนวนมาก ส่วนไวรัสบีและนันเอ- บี จะมีอยู่ในกระแสเลือด สารคัดหลั่งต่าง ๆ ซึ่งสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ บางรายอาการเหลืองไม่หายแต่กลับเหลืองมากขึ้น อุจจาระสีซีด คันตามตัว เพลียมากขึ้น ปวดท้องผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเป็นจำนวนมาก อาจมีอาการรุนแรง มีท้องและขาบวม พูดเลอะเลือน เพ้อ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาในการรักษานานเป็นเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ หรือบางรายตับอักเสบชนิดรุนแรงจนตับล้มเหลวทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แต่โชคดีที่ผู้ป่วยโรคตับอักเสบส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง มีเพียงจำนวนน้อยที่มีอาการรุนแรง
 ผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเกิน 6 เดือน ที่ยังมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารอาจมีหรือไม่มีตาเหลืองก็ได้ เรียกว่าผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังสามารถทำให้เกิดโรคตับแข็งในระยะหลาย ๆ ปีต่อมาได้ และมีโอกาสเป็นมะเร็งของเซลล์ตับได้มากกว่าคนปกติ

การดูแล
 เมื่อมีอาการดังกล่าวควรมาพบแพทย์ แต่ระยะเริ่มแรกเพื่อการวินิจฉัยโรค เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสนั้น ในปัจจุบันยังไม่มียากำจัดเชื้อไวรัสนี้ได้ แต่โรคนี้จะสงบลงได้เองเมื่อความต้านทานของร่างกายดีขึ้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ผู้ป่วยต้องประคับประคองตัวให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ซึ่งทำได้โดย
1. พักผ่อนอย่างจริงจังในระยะแรก ๆ ตับจะทำงานน้อยลง ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม โอกาสที่จะหายจากโรคเร็วขึ้น
2. อาหาร จะต้องกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ควรกินอาหารพวกแป้ง เช่น ข้าวต่าง ๆ ของหวาน น้ำหวาน เพราะย่อยและดูดซึมง่ายท้องไม่อืด อาหารพวกเนื้อสัตว์กินได้ แต่ไม่ควรมีไขมันมาก ปกติผู้ป่วยมักจะเบื่ออาหาร จึงควรฝืนใจกินเพื่อได้อาหารเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ ควรงดเครื่องดื่มประเภทสุรา เบียร์อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ตับอักเสบมากขึ้น
3. ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะจะเป็นอันตรายต่อตับ สำหรับยามีความสำคัญในการรักษาน้อย พวกวิตามินและยาบำรุงตับอาจใช้ได้บางส่วนเท่านั้น จึงขออย่าคิดว่าไม่ต้องพักผ่อน ไปทำงานและเล่นกีฬาตามปกติโดยหวังยาช่วยนั้น จะไม่ได้ผลเลย

การป้องกัน
 โดยรักษาอนามัยส่วนบุคคลและฉีดวัคซีนป้องกัน ( ซึ่งมีเฉพาะไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น )
1. ระมัดระวังในการกินอาหาร ต้องเป็นอาหารที่สุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ภาชนะที่ใส่สะอาด ใช้ช้อนกลาง
2. ล้างมือทุกครั้งก่อนจะกินอาหารและหลังอาหารและหลังจากออกจากห้องส้วม
3. อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด อาเจียนของผู้ป่วย เทลงส้วมที่ถูกต้องมิดชิด
4. ถ้ามีคนในบ้านเป็น ควรแยกเสื้อผ้า ของเครื่องใช้ในระยะติดต่อโรค ( ควรปรึกษาแพทย์ )
5. ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน เป็นต้น
6. ในรายที่จำเป็นต้องสัมผัสโรค เช่น สามีภรรยา บุตร ผู้ดูแลผู้ป่วยควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรฉีดหรือไม่
7. ใช้ถุงยางอนามัย ทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศกับผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคตับอักเสบ
8. หญิงตั้งครรภ์ควรมาฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ และเมื่ออายุครรภ์ได้ 6 เดือนขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาแอนติเจนไวรัสบี เพราะอาจติดถึงบุตรได้ ขณะตั้งครรภ์, คลอด, และการเลี้ยงดุ
9. ก่อนแต่งงานควรเจาะเลือดดูว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่คนในครอบครัว

ตับอักเสบจากการดื่มเหล้า
 พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ดื่มเหล้าอย่างน้อยวันละครึ่งขวดใหญ่ เป็นเวลานานเกิน 10 ปี สาเหตุเนื่องจากเหล้าไปลำลายเซลล์ตับโดยตรงและขาดอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบจากเหล้ามีอาการเบื่ออาหารอ่อนเพลีย 2-3 อาทิตย์ต่อมาจะเหลือง มีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา ถ้ารุนแรง อาจจะมีอาการบวม พูดเลอะเลือน เพ้อได้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบจากเหล้า  ต้องงดดื่มเหล้าโดยเด็ดขาดให้อาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ถ้ากลับไปดื่มอีกตับจะอักเสบขึ้นบ่อย ๆ ทำให้เนื้อตับถูกทำลาย และในที่สุดก็จะกลายเป็นโรคตับแข็ง

ตับอักเสบจากสาเหตุอื่น
นอกจากเชื้อไวรัสตับอักเสบและเหล้าแล้ว สาเหตุอื่นที่พบได้คือจากการกินยา เช่น ยารักษาโรค ยารักษาความดัน ยาสลบ ยาถ่าย ยาชุด เป็นต้น กล่าวคือ หลังจากกินยาแล้วผู้ป่วยมีอาการคล้ายตับอักเสบทั่วไป ดังกล่าวมาแล้ว
หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อโรคของอวัยวะอื่น ๆ เช่น เป็นโรคปอดบวม เป็นโพรงหนองในส่วนของร่างกาย แล้วเชื้อโรคแพร่กระจายไปตามหลอดเลือดและไปที่ตับ

จากสารพิษ พวกสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การผลิตน้ำมัน ผงซักฟอก ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู ฯลฯ
1. ตรวจเลือดซ้ำ หลังจากตรวจครั้งแรก 3 - 6 เดือน
2. งดดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยาที่จะเป็นอันตราย
3. พักผ่อนเพียงพอ อย่าทำงานหักโหม
4. ออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงมากหรือกีฬาที่ต้องแข่งขัน
5. รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่ควรปล่อยให้หิวมาก
6. รักษาสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล
7. งดสูบบุหรี่
8. งดใช้เครื่องใช้ส่วนตัวหรือของมีคมร่วมกับผู้อื่น
9. ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
10.ควรพาคู่สมรสและบุตรไปตรวจเลือด ถ้าพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกันแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกัน
11.งดบริจาคเลือดและอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนน้ำอสุจิที่ใช้ผสมเทียม
12.ถ้าไปรับการตรวจรักษาหรือทำฟันควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นโรค
13.ถ้ามีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเป็นระยะ ๆ

 การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ที่ได้ผลมี 2 แบบคือ ชนิด 3 เข็มและ 4 เข็ม
  ฉีด 3 เข็ม 2 เข็มแรกห่างกัน 1 เดือน และเข็มที่ 3ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน ( 0, 1, 6 )
 ฉีด 4 เข็ม 3 เข็มแรกห่างกันเข็มละ 1 เดือน และเข็มที่ 4 ห่างจากเข็มแรก 12 เดือน ( 0, 1, 2, 12, )
 การฉีดทั้งสองแบบอาจต้องฉีดซ้ำทุก 3 - 5 ปี

จากหนังสือ รายการกระจายเสียง วิทยุศึกษา เดือน ธันวาคม 2536หน้า 40 - 46



วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ปลูกผักสวนครัวกันเถอะ ( ฟักทอง Squash )


บล็อกนี้ชวนเพื่อน ๆ ปลูกฟักทองกันคะ ซึ่งปลูกได้ง่ายมากโดยใช้เมล็ดปลูกก็ขึ้นเป็นต้นได้ง่าย และสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งยอดอ่อนและผลให้เรารับประทาน มาปลูกกันคะ ไม่ว่าจะปลูกลงดินหรือปลูกในกระถางที่ขนาดใหญ่หน่อย พอโตเราก็สามารถเก็บส่วนยอดมาลวกจิ้มกับน้ำพริกได้หรือปล่อยให้ติดผลเพื่อรับประทานผลก็ดี แต่ต้องปลูกหลายต้นหน่อยนะคะปลูกต้นเดียวจะไม่ติดผลนะคะ เพราะดอกตัวผู้และดอกตัวเมียถ้าเป็นต้นเดียวกันจะบานไม่พร้อมกันนะ ทำให้ไม่ติดผลนะ

ฟักทองชื่อวิทยาศาสตร์ Cucurbita moschata Decne. ฟักทองเป็นพืชล้มลุกมีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกากลางลำต้นเป็นเถากลมเลื้อยมีหนวดไว้ยึดเกาะมีขนอ่อนตามลำต้นและใบ ใบเป็นรูปแฉกมี 5 แฉกขนาดใหญ่ขอบใบเป็นจักรเล็ก ๆ ดอกเป็นดอกแบ่งแยกเพศ ดอกสีเหลืองขนาดใหญ่
การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปลูกได้กับดินร่วนให้น้ำสม่ำเสมอ ชอบแสงแดด
ประโยชน์ ปลูกเป็นพืชสวนครัวหรือปลูกเป็นอาชีพได้ ฟักทองสามารถใช้ประกอบอาหารได้หลายประเภททั้งอาหารคาวและอาหารหวาน






วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เด็กกับของเล่นยุคปัจจุบัน


 ปัจจุบันของเล่นสำหรับเด็กได้พัฒนารูปแบบที่แปลกและใหม่วางขายกันอยู่ทั่วไปตั้งแต่บนทางเท้าจนถึงในห้างสรรพสินค้า ซึ่งการที่จะเลือกซื้อให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมกับวัยของเด็กนั้น ผู้ปกครองควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่งในเรื่องนี้ เพราะของเล่นบางอย่างในปัจจุบันนี้นั้นนอกจากจะไม่ค่อยเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก และมีราคาแพงแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กด้วย การเลือกของเล่นจึงควรพิถีพิถันตามสมควร โปรดจำไว้ว่าของเล่นที่มีกลไก ซับซ้อน แปลกใหม่และราคาสูง ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นของเล่นที่ดีเหมาะสมกับเด็ก ๆ เสมอไป

ก่อนที่เราจะช่วยกันประเมินคุณค่าของเล่นในยุคปัจจุบันว่า เด็กควรจะได้เป็นเจ้าของของเล่นอย่างไรนั้น ใคร่จะชี้ให้เห็นความจำเป็นและประโยชน์ของการเล่นโดยย่อ ดังนี้

  การเล่นเป็นการงานหรือเป็นการทำงานของเด็ก ๆ เป็นการเตรียมเด็กเข้าสู่ความเป็นจริงของชีวิต ให้โอกาสเด็กได้แสวงหาความรอบรู้ต่าง ๆ รวมทั้งได้ความสนุกสนานบันเทิง หากห้ามเด็ก ๆ ไม่ให้เล่น ก็เท่ากับปิดโอกาสไม่ให้เด็กได้ทำงานไม่ได้เตรียมตัวสู่ความของชีวิตขาดความรอบรู้และไม่ได้รับความสนุกสนานผ่อนคลายเท่าที่ควร เขาอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้ยาก ประโยชน์ของการเล่นที่พึ่งเกิดแก่เด็ก ๆ อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนก็คือ

 เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ กล้ามเนื้อโครงสร้างของร่างกาย เช่น แขน ขา คอ และลำตัว ช่วยให้เขาเคลื่อนไหว ยืน เดิน ผลัก ดัน วิ่ง และห้อยโหนได้แข็งแรงรวดเร็วและมั่นคง ได้แก่การเล่นหรือของเล่นประเภทที่ต้องใช้กำลังเป็นส่วนใหญ่เช่น เล่นตั้งเต วิ่งเปรี้ยว ลูกช่วงหรือกระโดดห่วงยาง

เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ กล้ามเนื้อมือและตาเป็นต้น เสริมให้เด็กเคลื่อนไหวหรือเขียนหรือสอดร้อย ถักทอ กะระยะหรือคาดคะเนต่าง ๆ กับงานละเอียดประณีตได้ดีด้วยมีทักษะของความสัมพันธ์มือ - ตา กลมกลืนกัน

เสริมพัฒนาการด้านภาษา คือเสริมทั้งในด้านการรับรู้ฟังและการโต้ตอบออกไปได้อย่างถูกต้องกับสถานการณ์ ทำให้การเล่นดำเนินต่อไปได้ และเสริมการติดต่อสัมพันธ์กับครอบครัว และผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม

เสริมพัฒนาการด้านสังคม คือเสริมด้านการรู้กฏเกณฑ์กติกาของกลุ่มหรือของเพื่อน รู้แพ้รู้ชนะ รู้จักยอม ผ่อนสั้นผ่อนยาว หรือคัดค้านไม่เห็นด้วย รู้บทบาททางสังคมของผู้คนในสังคมจากการเล่นบทบาทสมมุติ เป็นตำรวจ ผู้ร้าย หมอ คนไข้ พ่อค้า ลูกค้า หรือพ่อแม่ ลูก หากเด็กเล่นไม่เหมาะสมกลุ่มจะช่วยเสริมหรือสอนให้เขาปรับตัวเหมาะสมยิ่งขึ้น

เสริมพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเอง การเล่นเสริมความสามารถในการตัดสินใจต่าง ๆ ว่าจะเล่นตามลำพังหรือเข้ากลุ่ม สู้ตามลำพังหรือระดมสู้ทั้งกลุ่มดังนี้ เป็นต้น

 จากประโยชน์ของการเล่นทั้งหมดที่กล่าวมาโดยสรุปนี้ ผู้อ่านคงจะพอประเมินได้ว่าของเล่นและการเล่นของเด็ก ๆ ชนิดใดบ้างที่เสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กได้ครบถ้วนตั้งแต่กล้ามเนื้อใหญ่เล็ก ภาษา สังคม และการช่วยเหลือตัวเอง และของเล่นชนิดใดบ้างที่เสริมพัฒนาการแต่เพียงบางด้านเท่านั้น

 เพื่อให้เห็นภาพของเล่นและการเล่นชัดเจนขึ้น ทั้งสามารถจัดของเล่นมีคุณภาพให้เด็กได้อย่างเหมาะสมและประหยัดในที่นี้ใคร่จะจำแนกการเล่นและของเล่นในปัจจุบันให้พิจารณา ซึ่งนักจิตวิทยาเด็กจำแนกไว้เป็น 8 ประเภท ดังนี้

ประเภทค้นหาหรือออกแรงก้าวร้าว ได้แก่ ฟุตบอล แบดมินตัน ปืน ( ของเล่น ) เครื่องมือ และประเภทตี ทุบ ตอก ต่าง ๆ จะออกแรงทั้งนี้รวมทั้งพวกวิดีโอเกมส์และฝึกสมองทดลองปัญญาต่าง ๆ ด้วย

ประเภทบทบาทสมมุติ สมมุติเป็นแม่ค้าขายของ ตำรวจ - ผู้ร้าย หมอ / พยาบาล - คนไข้ พนักงานขับรถดับเพลิง พ่อแม่ หรือซูเปอร์แมน

ประเภทสร้างสรรค์ เด็กได้แสดงความคิดในการตกแต่ง ตัดต่อ พับ ลงสี หรือปั้น รวมทั้งประดิษฐ์ให้สอดคล้องกับสอดคล้องกับจิตนการและให้สวยงาม ได้แก่ งานวาด ลงสีปั้น และแกะสลักต่าง ๆ

ประเภทหนังสือ เป็นหนังสือบรรจุทั้งคำ ข้อความเรื่องราวพร้อมภาพ เด็กได้ความรู้ ความพอใจและได้ผ่อนคลาย ทั้งนี้รวมทั้ง ที. วี. ด้วย

ประเภทวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ ได้แก่ ของเล่น ประเภทหินแร่ธาตุ และพืชพันธุ์ต่าง ๆ พวกแมลง สัตว์สตัฟฟ์เหมือนจริง รวมทั้งการเพาะพืชหรือการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น ปลาตู้ แมว สุนัข เป็นต้น

ประเภทดนตรี ได้แก่ เครื่องดนตรีง่าย ๆ รวมทั้งการร้องเพลง และ เล่นเทปเสียง

ประเภทบล็อก เพื่อตั้งแต่งเป็นลวดลายต่าง ๆ และ / หรือเป็นรูปร่างคน สัตว์ สิ่งของหรืออาคารสถานที่ตามตัวอย่างหรือคิดฝันขึ้นเอง

ประเภทเกมส์ เหมาะสมกับเด็กวัยอนุบาลหรือปฐมวัยเบื้องต้นเป็นเกมส์เพื่อเตรียมการอ่าน เช่น จัดกลุ่มอักษร ตัวเลข เลือกคู่เหมือนหรือแก้ปัญหาหาข้อแตกต่างหรือวนเขาวงกต

  ของเล่นเหล่านี้ในปัจจุบันเป็นธรุกิจและอาศัยกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน ลงทุนสูง และมักจำหน่ายในราคาแพง บางบริษัทใช้วัสดุคุณภาพต่ำ แตกทำลายง่ายใช้สีที่เป็นพิษซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ๆ ได้เพราะหาซื้อง่าย บางครั้งพ่อค้าแม่ค้านำไปเสนอขายถึงบ้านทั้งมีการลด แลก แจกแถม หรือเพิ่มลูกอมขนมเคี้ยวจูงใจอีกต่างหากด้วย ของเล่นบางอย่างเป็นที่รู้จักของเด็ก ๆ เพราะอิทธิพลของ ที. วี. และสื่อต่าง ๆ ทำให้เด็กอยากได้ด้วยอำนาจของโฆษณา โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม หากผู้ใหญ่ไม่ระมัดระวังนอกจากจะไม่เหมาะสมคุ้มค่ากับเด็ก ๆ แล้ว ยังจะแพงเกินไปและเป็นอันตรายกับเด็ก ๆ ด้วย

 ใคร่ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายลองคิดเปรียบทียบของเล่น และการเล่นปัจจุบันกับอดีตที่ท่านเคยเล่นมาเมื่อครั้งท่านยังเป็นเด็กดูก็ได้ว่าของเล่นปัจจุบันชนิดใดที่ให้ประโยชน์ครบทั้ง 5 ประการ หรือเกือบทั้งหมดดังได้กล่าวมาแล้วบ้างและท่านน่าจะเลือกอย่างนั้นให้ลูก ๆ ของท่านเล่นจะได้หรือไม่


อนึ่ง หากจะลองเปรียบเทียบของเล่นปัจจุบันกับอดีตให้ดูเป็นรูปธรรม จะเห็นชัดเจนว่า ของเล่นปัจจุบันมักมีราคาแพงเกินความจำเป็น เพราะเป็นธุรกิจและอาศัยการผลิตที่ซับซ้อน  วัสดุที่ประกอบของเล่นน่าจะเป็นอันตรายมากกว่า เสริมพัฒนาการของเด็ก ๆ ได้น้อยด้านกว่า
 ของเล่นปัจจุบันเน้นเล่นคนเดียว เก่งคนเดียว ขาดความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน ตัวใครตัวมัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิตที่ดีคือต้องเอื้ออาทรต่อกัน ร่วมมือร่วมใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ของเล่นนี้ราคาแพงเจ้าของมักจะหวงแหน กลัวเพื่อนทำเสียหาย แตกหัก ทำลาย ยิ่งทำให้ขาดเพื่อนมากยิ่งขึ้น
 อย่างไรก็ตาม ของเล่นยุคปัจจุบันส่วนหนึ่งยังมีคุณค่าสำหรับเด็ก ๆ เป็นอันมากหากเรารู้จักปรับแต่งให้สอดคล้องเสริมพัฒนาการของเด็ก ๆ ทุกด้าน เช่น ปรับให้เล่นกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นหมู่ได้ ซึ่งเสริมด้านสังคมและภาษา เป็นต้น ข้อเด่นของของเล่นแบบโบราณก็คือ พ่อ แม่ หรือผู้ใหญ่ทำขึ้นได้ด้วยตัวเองได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นม้าก้านกล้วย ไม้หึ่ง หรือลูกช่วง พอทำเสร็จก็ส่งให้เล่นกันเดี๋ยวนั้นเลย ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างพ่อแม่ - เด็กเกิดขึ้นตรงนั้นและมีคุณค่าอย่างยิ่งแถมขึ้นเป็นพิเศษจากการเล่นและของเล่นนั้น หากปรับการเล่นและของเล่นยุคปัจจุบันให้สามารถเสริมพัฒนาการของเด็กได้หลาย ๆ ด้านเหมือนในอดีต ก็จะเป็นการดีมาก


บทความเด็กกับของเล่นยุคปัจจุบันจาก สคบ.สาร จากหนังสือรายการกระจายเสียง วิทยุศึกษา ธันวาคม 2536


วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

โรคมือ เท้า ปาก ( Hand, Foot and Mouth Disease )


โรค มือ เท้า ปาก
 เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็กศูนย์เด็กสถานที่เล่นของเด็กในห้างสรรพสินค้าโดยเฉพาะในที่อยู่รวมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้ โรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝน ซึ่งอากาศเย็นและชื้น

การแพร่ติดต่อ
 การติดต่อส่วนใหญ่จะเกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลายน้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของของป่วย และเกิดจากการไอจามรดกันโดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย สำหรับการติดเชื้อจากอุจจาระจะเกิดได้ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาจนกระทั้งหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือนแต่จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า

อาการของโรค
 หลังจากได้รับเชื้อ 3 -6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1- 2 วัน มีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้และไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้มจะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก ( มักไม่คัน ) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณรอบ ๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7 - 10 วัน

โรคมือ เท้า ปาก ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ที่ต้องเฝ้าระวังอาการ อย่างหนึ่งอย่างใด ต่อไปนี้ภายใน 3 - 5 วัน
- ไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส และนานกว่า 48 ชั่งโมง
- อาการซึมลง เดินเซ
- กระสับ กระส่าย ร้องกวนตลอดเวลา
- การกรอกตาที่ผิดปกติ
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- อาเจียนบ่อย ๆ
- กล้ามเนื้อกระดุก ชัก ไม่รู้สึกตัว
- หอบเหนื่อย
- ตัวเย็น ตัวลายซีด

การดูแลรักษา
- การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ( พาราเซตตามอล ) ดื่มน้ำเย็นหรือนมเย็น ๆ หรือไอศกรีม
- โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวด ในรายมีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
- ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมาก ๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด
- ตามปกติโรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกันโรค
 โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอานามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ( ก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหารภายหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการดูแลเด็กป่วย ) ตัดเล็บให้สั้นหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน ( เช่น ขวดนม แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ ) และใช้ช้อนกลาง

 สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย

การควบคุมโรค
 หากพบเด็กป่วย ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ๆ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5 - 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูกปากเวลาไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสน้ำมูกน้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย

 หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็ก ต้องดำเนินนการ ดังนี้
 - ปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว ( ประมาณ 5 - 7 วัน )
 - ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรค บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม สระว่ายน้ำ ครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว ( 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1 ลิตร ) หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน
 - ทำความสะอาดของเล่น เครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
 - หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดม่านให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง

ข้อมูลจากแผ่นพับ โรงพยาบาลบางจาก อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ