วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รับมืออย่างไรเมื่อได้รับผลข้างเคียงจากยา ตอนที่ 2


การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนไป
 ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีการรับรสและกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้นรสชาติอาหารควรมีการดูแล และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ที่สำคัญควรมีการเพิ่มกลิ่นในอาหาร เช่น ใส่ใบโหระพาเพื่อชูกลิ่นของอาหารให้มีกลิ่นน่ารับประทานมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากเพราะไขมันจะทำให้ตุ่มรับรสรับรสชาติได้แย่กว่าเดิม
คลื่นไส้ อาเจียน
  เมื่อเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาหารที่รับประทานต้องมีลักษณะอ่อนย่อยง่าย ไม่มีไขมันเป็นส่วนประกอบมากจนเกินไป และเริ่มให้รับอาหารปริมาณน้อยก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอาหาร แต่อาหารที่เลือกรับประทานควรเป็นอาหารพลังงานสูง เช่น เลือกเนืื้อปลานำมานึ่งรับประทาน
ท้องเสีย
  หากเกิดอาการท้องเสีย ควรงดเว้นการรับประทานอาหารรสจัดรวมไปถึงผักและผลไม้ ไม่ควรรับประทานเส้นใยอาหารที่มากเกินไปในขณะที่เกิดอาการท้องเสีย ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย มีรสจืด เพื่อลดการอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุกทุกชนิด แม้แต่ผักควรจะต้มหรือผ่านความร้อนก่อนรับประทาน เพื่อฆ่าเชื้อที่มีอยู่ในผักเหล่านั้น
  ข้าวต้มเปล่า ๆ มีสรรพคุณช่วยเพิ่มกำลังวังชาและช่วยลดอาการท้องเสียสำหรับผู้ป่วยที่ท้องเสียอย่าเพิ่งรับประทานข้าวสวย ควรรับประทานตามลำดับจากน้ำข้าวจนถึงข้าวต้มใส ๆ เพื่อให้ลำไส้มีโอกาสได้ปรับตัว เมื่อท้องเสียร่างกายเสียน้ำมาก ควรรับประทานน้ำข้าวเติมด้วยเกลือเล็กน้อยเพื่อเป็นการเพิ่มเติมโซเดียมด้วย
ท้องผูก
 ถ้าเกิดอาการท้องผูกและแน่นท้องควรดื่มน้ำให้มากขึ้น และเลือกรับประทานอาหารเส้นใยให้มากขึ้น โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ นอกจากนี้การฝึกเข้าห้องน้ำเป็นประจำยังช่วยได้มาก เช่น ทุกครั้งตอนตื่นนอนก็เข้าห้องน้ำแม้จะไม่ปวดอุจจาระก็ตาม เพื่อฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เคยชินหากมีอาการท้องผูกและควรดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 8 - 10 แก้ว

จากหนังสือ คู่มือการดูแลตัวเองของผู้ป่วยที่ได้รับรับยาเคมีบำบัด