วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สมาธิ



คุณผู้อ่านหลาย ๆ คน  คงเคยบ่นกันมาบ้างแล้วว่า " แหม ! วันนี้ไม่มี สมาธิเลย " บางคนอาจจะเคยดุลูก ๆ หลาน ๆ ว่า " อย่าเปิดวิทยุดังนักสิ รบกวนคุณพ่อ จะไม่มีสมาธิทำงาน " คนที่เล่นกีฬาก็อาจจะบ่นว่า " วันนี้ สมาธิไม่ดี เลยแพ้เสียหลายเกม"
 นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า " สมาธิ " เป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีสมาธิเราจะทำงานหรือเรียนหนังสือ หรือเล่นกีฬาได้ดี แต่ถ้าไม่มีสมาธิเราก็จะทำอะไรต่ออะไรไม่ได้ดีเท่าที่ควร
 บางครั้งการไม่มีสมาธิอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ เช่นเวลาขับรถ ถ้ามั่วคุยเพลินไม่มีสมาธิ ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุไปชนไปเฉี่ยวเข้าได้ หรือผู้ที่ทำงานกับเครื่องจักร ถ้าขาดสมาธิมัววอกแวกก็อาจบาดเจ็บเพราะได้รับอันตรายจากเครื่องจักรนั้นได้
หรืออย่างเบา ๆ เช่น นักเรียนที่ไม่มีสมาธิ ก็จะฟังครูสอนไม่รู้เรื่อง หรือในที่ประชุม หากเราขาดสมาธิ ก็อาจจะจับประเด็นไม่ได้ว่าในที่ประชุมใครเขาพูดอะไรกันไปบ้างแล้วอาจจะแสดงความคิดเห็นเชย ๆ ออกไปให้คนอื่นขบขันก็ได้ หรือพนักงานพิมพ์ดีด ถ้าไม่มีสมาธิก็คงพิมพ์ผิด ๆ พลาด ๆ ต้องพิมพ์ใหม่กันเป็นหน้า ๆ เลยก็มี
 สมาธิจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะมี เพื่อช่วยพัฒนาตัวเราให้ทำงานได้ดีขึ้น เรียนได้ดีขึ้นเล่นกีฬาได้ดีขึ้น และทำอะไร ๆ ได้ดีขึ้น
 วิธีฝึกสมาธิก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย ไม่คิดไม่ทำอะไรทั้งสิ้น ดูสิว่าจะทำได้นานสักแค่ไหน ครั้งแรกอาจจะไม่ถึง 5 วินาที จิตใจก็โลดแล่นคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเสียแล้ว อย่าเพิ่งท้อถอยลองทำใหม่ในวันต่อ ๆ ไปคงทำได้นานขึ้นเอง ถ้าตั้งใจจริง
 บางคนชอบทำงาน 2 อย่างในเวลาเดียวกัน เช่น อ่านหนังสือก็เปิดวิทยุฟังไปด้วย นั่งทำงานไปกินขนมไป ทำงานไปคุยกันไปดูโทรทัศน์ไปอ่านหนังสือพิมพ์ไป ฯลฯ
 ขอให้เลิกเสียแล้วลองทำทีละอย่างโดยเลือกทำสิ่งที่สำคัญเท่านั้นจะมีสมาธิมากกว่า เช่น ถ้าคิดว่าอ่านหนังสือสำคัญกว่าฟังวิทยุ ก็ให้ปิดวิทยุ แล้วเพ่งสมาธิไปที่การอ่านอย่างเดียว จะทำให้เก็บใจความจากหนังสือไว้ได้มากกว่าเมื่อตอนที่ทั้งอ่านทั้งฟังในเวลาเดียวกัน
 ถ้าคิดว่าทำงานสำคัญกว่าคุย ก็ให้เลิกคุยชั่วคราว หันมาใส่ใจกับงานให้เต็มที่ มีสมาธิจดจ่ออยู่แต่กับงาน จะทำงานได้ดีขึ้นผิดพลาดน้อยลง และงานจะเสร็จเร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย
 ในการเล่นกีฬา เช่น ตีเทนนิส ก็ให้จดจ้องอยู่แต่ที่ลูกเทนนิสใจก็ต้องอยู่ด้วย อย่าไปคิดถึงเรื่องอื่น จะทำให้เสียสมาธิและตีลูกผิด ๆ พลาด ๆ
 การฝึกสมาธิสามารถทำได้ตลอดเวลา และแทบทุกโอกาส เช่นขณะรถติดที่แสนจะน่าเบื่อเราก็ทำสมาธิโดยการไม่คิด ไม่กระวนกระวายถึงเรื่องรถติดอาจหลับตาแล้วแล้วทำใจให้จดจ่ออยู่ที่ลมหายใจหายใจเข้าท่องคำว่าพุทธ หายใจออกท่องคำว่าโธ แรก ๆ ลมหายใจอาจถี่และกระชั้นแต่เมื่อคุมสมาธิได้ดีขึ้น ลมหายใจก็จะยาวขึ้น ทำให้จิตใจและสมองปลอดโปร่งขึ้น
 เวลาก่อนนอน ก็เหมาะที่จะฝึกสมาธิ เพราะช่วงนั้นไม่มีภารกิจอะไรจะต้องทำแล้ว อาจจะนั่งสวดมนต์บทยาว ๆ โดยจิตใจจดจ่ออยู่แต่คำสวด ไม่คิดถึงเรื่องอื่น ๆ ใจคอจะสงบ ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น
 ผู้ที่นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อาจใช้วิธีนับเลขไปเรื่อย ๆ จาก 1 - 100 หรือนับแบบฝรั่งก็คือ นับแกะ 1 ตัวไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหลับการนับจะทำให้มีสมาธิจดจ่ออยู่ที่ตัวเลข หรืออยู่ที่แกะทำให้ลมเรื่องฟุ้งซ่านต่าง ๆ และหลับได้ในไม่ช้า
 สมาธิ เป็นสิ่งประเสริฐ ล้ำค่า ควรที่เราจะฝึกฝนเสียแต่วันนี้เพื่อจิตใจที่สงบสุข ซึ่งจะมีผลดีต่อการดำเนินชีวิตของทุก ๆ คน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการพนักงาน ลูกจ้างหรือนายจ้างก้ตาม เพราะคุณจะเรียนและทำงานหรือทำอะไร ๆ ได้ดีขึ้นค่ะ เมื่อคุณมีสมาธิ

บทความของ อินทิรา ปัทมินทร จากหนังสือ รายการกระจายเสียง ของวิทยุศึกษาฉบับเดือน มีนาคม 2536 หน้า 36- 38

                                                   แก้ความเครียดด้วยสมาธิ
การดำรงชีวิตในปัจจุบันโดยเฉพาะสังคมเมือง หลายคนคงยอมรับว่ารีบเร่งเคร่งครัด จนทำให้เราเกิดความรู้สึกถูกบีบให้รู้สึกดึงเครียดอยู่เสมอ ความเครียดเมื่อสะสมนาน ๆ เข้า จะก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมาอย่างมากมาย จนเราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
แล้วเราจะทำอย่างไร?
 นายแพทย์เมียเรส แพทย์ชาวออสเตรเลียซึ่งเคยทำการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งในกระดูกชนิดร้ายแรงมาก เปิดเผยว่าการทำสมาธิแบบต่าง ๆ สามารถส่งเสริมสุขภาพอนามัยรวมถึงการรักษาโรคให้กับคนไข้สาขาโรคต่าง ๆ ได้
 นายแพทย์เมียเรสกล่าวว่าประโยชน์ที่แท้จริงของการทำสมาธิเกิดขึ้นจากสภาวะที่ร่างกายอยู่ในความสงบ จึงมีโอกาสคืนสู่สภาวะสมดุล เรียกว่า สุขภาพดีได้โดยปริยาย
 การฝึกสมาธิเริ่มได้จากการทำให้กายสงบ ซึ่งอาจปฎิบัติได้ในท่านั่ง โดยนั่งเก้าอี้แล้ววางเท้าราบกับพื้นหลังตั้งตรง ศีรษะอาจพาดกับพนัก แขนราบแนบลำตัว หรือวางมือราบกับโคนขา แล้วหลับตาลง
 จากนั้นจึงปล่อยให้ความสงบนี้เคลื่อนผ่านไปสู่จิตใจ สำรวมความคิดมาสู่ภายใน ระลึกไว้เสมอว่า นี่เป็นเวลาของการรักษาโรคหากสะดวกก็สามารถต่อด้วยการสวดมนต์ เนื่องจากบทสวดมนต์จะโน้นน้าวให้เกิดความสงบได้ง่ายขึ้นเมื่อคุณไม่สวดมนต์ก็ให้พุ่งความสนใจไปที่เท้าทั้งสองลองขยับดูให้รู้ชัดเจนว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร ลองกดกล้ามเนื้อเท้าให้ตึงให้จิตใจรู้สึกถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไป แล้วคลายกล้ามเนื้อให้รู้สึกถึงความเปลี่ยนไปในทุกการเคลื่อนไหว รู้สึกเข้าไปให้ลึก ๆ แล้วปล่อยวาง ทำเช่นนี้เวียนทั่วร่างกาย หลังจากนั้นทิ้งให้ตัวเองเงียบสักครู่ และยุติด้วยการกล่าวว่า " ดีมาก ค่อย ๆ เปิดตาขึ้นได้แล้ว "
ผลของการปฎิบัติครั้งแรกจะรู้สึกได้ว่าร่างกายผ่อนคลาย เมื่อฝึกหัดยิ่ง ๆ ขึ้น ความสงบจะเกิดได้ง่ายและบ่อยขึ้น ขอให้แน่ใจว่าเราทุกคนทำสิ่งนี้ได้
 ในระหว่างการปฎิบัติสมาธินั้น ขอเพียงตั้งเป้าหมายที่การมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น การปฎิบัติทุกวันวันละ 10 - 20 นาที จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตได้ ความเครียดความกังวลก็จะหายไป

เรียบเรียงโดย ทิพาพร ถาวรแก้ว มูลนิธิหมอชาวบ้าน ข้อมูลจาก นิตยสารหมอชาวบ้าน พิมพ์ลงในหนังสือรายการกระจายเสียง วิทยุศึกษา เดือนธันวาคม 2535