ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะใดคงต้องเจอวัยรุ่นเข้าบ้างเป็นแน่คุณอาจจะเป็นพ่อแม่ที่มีลูกกำลังเข้าวัยรุ่น เป็นผู้ที่มีน้องกำลังเป็นวัยรุ่น เป็นครูที่มีลูกศิษย์กำลังเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวหรือตัวคุณเองก็กำลังอยู่ในระยะวัยรุ่นเหมือนกัน
เราคงพอทราบกันบ้างแล้วว่า วัยนี้เป็นวัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่กำลังโตเป็นหนุ่มเป็นสาว อารมณ์ที่เปลี่ยนจากเด็กซุกซน ไม่สนใจอะไร กลายเป็นคนที่มีอารมณ์ ช่างคิด ช่างฝัน แสนงอน ขี้น้อยใจหรือใจร้อน โผงผาง นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมเปลี่ยนจากเด็กที่ชอบอยู่กับบ้านมีเรื่องอะไรก็คอยปรึกษาพ่อแม่กลายมาเป็นคนที่ชอบออกนอกบ้าน คลุกคลีกับหมู่เพื่อน ชอบเตร็ดเตร่ตามสถานที่ชุมนุมของเด็กวัยรุ่น เมื่อมีปัญหาก็ชอบจะปรึกษาเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ มีความลับที่ไม่อยากเปิดเผยให้พ่อแม่ทราบ หรืออาจเริ่มมีจดหมายของฝากจากเพื่อนต่างเพศ ซึ่งเขาจะถือเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ขนาดที่ใครไปแตะต้องไม่ได้ทีเดียว
ฟังดูแทบไม่เชื่อ แต่ทุกคนก็ต้องผ่านระยะวัยรุ่นก่อนวัยผู้ใหญ่กันทั้งนั้น
ก่อนที่มนุษย์จะเจริญวัยและพัฒนาเต็มที่จากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ต้องผ่านระยะสำคัญนี้ไปให้ได้เสียก่อน คุณผู้อ่านคงพอจะนึกออกถึงความแต่งต่างระหว่างเด็กกับใหญ่ได้ว่ามีความแตกต่างอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ ความคิด ความอ่าน การสังคมติดต่อกับผู้อื่น ระยะวัยรุ่นเป็นระยะที่เด็กเรียนรู้และพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเอง และการพึ่งพาตนเองเพื่อเป็นผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของง่ายเลย ช่างยุ่งยากซับซ้อน บางครั้งก็สับสน วัยนี้จึงมักเต็มไปด้วยคำถามซึ่งต้องการคำตอบที่เขาเข้าใจได้จึงจะถูกใจเขา
ขณะย่างก้าวความยุ่งยากนี้อารมณ์เศร้าในวัยรุ่นมักเกิดขึ้นได้ง่าย นักจิตวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ความกลัดกลุ้มใจ ไม่สบายใจในวัยนี้เป็นสิ่งปกติในการพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ของวัยรุ่นแต่การเอาชนะความผิดหวังต่าง ๆ ต้องอาศัยกำลังใจที่เข้มแข็งจึงจะผ่านพ้นไปได้ วัยรุ่นที่กำลังใจไม่เข้มแข็งและขาดผู้ใหญ่ที่เข้าใจคอยช่วยเหลือ สนับสนุนก็มีโอกาสล้มเหลวง่าย ความผิดหวังในวัยนี้มีผลกระทบต่อความรู้สึกของเขาได้ง่ายมาก เพราะเป็นระยะกำลังเริ่มต้นและยังขาดประสบการณ์วัยรุ่นจะรับรู้ต่อความล้มเหลวในเชิงหมดหวังได้ง่าย และตัดสินใจแก็ปัญหาอย่างหุนหันพลันแล่นได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ได้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง และรู้สึกว่าไม่มีใครสามารถช่วยเหลือเขาได้อีกแล้ว
อารมณ์เศร้าในวัยรุ่นแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ กันได้ดังนี้
- มีอารมณ์หงุหงิดง่ายเจ้าอารมณ์
- ตำหนนิติเตียนตนเองอยู่เสมอ มองตนเองว่าไม่ดี ไม่เอาไหน ไม่มีความหมาย
- แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงต่าง ๆ
- ไม่อยากไปโรงเรียน ผลการเรียนตกต่ำลง เข้ากับเพื่อนครูที่โรงเรียนไม่ได้ หนีโรงเรียน หนีออกจากบ้าน
-นอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อย ๆ หลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ อยู่เสมอ
- แยกตัวไม่สุงสิงกับคนอื่น
- มีอาการไม่สบายทางกายเช่น ปวดหัวบ่อย ๆ ปวดท้องอยู่
ดั้งนั้น หากท่านผู้อ่าน ได้พบลักษณะดังกล่าวมาแล้วในวัยรุ่นใกล้ตัวท่าน ลองหาดูว่าเขากำลังมีอารมณ์เศร้าอยู่หรือไม่และมีอะไรเป็นสาเหตุ การเข้าใจอารมณ์ของเขา ยอมรับเขา และปลอบโยนให้กำลังใจ ช่วยชี้แนะทางที่เหมาะสม จะช่วยให้เขาไม่รู้สึกหมดหวัง และลุกขึ้นจัดการสิ่งที่ล้มเหลวใหม่ได้ แม้ว่าสาเหตุแห่งอารมณ์เศร้านั้นจะแก้ไขไม่ได้เต็มที่นักก็ตาม
ในระยะที่กำลังสอบเข้าเรียนต่อ โดยเฉพาะการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เป็นช่วงที่เขาจะรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง หรือ ล้มเหลว ได้ง่าย หากผลการสอบไม่ผ่านผู้ใหญ่หรือบุคคลใกล้ชิดจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยเหลือให้เขาเอาชนะช่วงเวลาสำคัญนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง และกล้าที่จะก้าวไปข้างหน้าเผชิญกับสิ่งใหม่พร้อมกับประสบการณ์แห่งความผิดหวังที่ไม่น่ากลัวสำหรับเขาเลย
บทความของ แพทย์หญิงสุรางค์ เลิศคชาธาร จากหนังสือรายการกระจายเสียงของวิทยุศึกษา ฉบับเดือน มิถุนายน 2533 หน้าที่ 18-20