วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนได้รับเคมีบำบัด



คำถามที่ควรถามแพทย์
เกี่ยวกับเคมีบำบัด
 ทำไมเราถึงต้องการเคมีบำบัด?
 ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากเคมีบำบัดคืออะไร?
 ความเสี่ยงของเคมีบำบัดมีอะไรบ้าง?
 มีการบำบัดรักษามาตรฐานของมะเร็งชนิดที่เป็นอยู่นี้ ทำอย่างไรบ้าง?
เกี่ยวกับการรักษา
 เราจะได้รับการรักษาแบบใด ระยะเวลานานเท่าใด?
 เราจะได้รับยากลุ่มใด?
 เราจะได้รับยาอย่างไร เช่น ฉีดหรือกิน เป็นต้น?
 เราจะได้รับการรักษาที่ใด?
 การรักษาแต่ละคอร์สจะใช้เวลานานเท่าใด?
เกี่ยวกับผลข้างเคียง
 ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างเคมีบำบัดมีอะไรบ้าง และเกิดขึ้นเมื่อไร? ผลข้างเคียงแบบใดที่น่าจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดสำหรับมะเร็งชนิดที่เราเป็นอยู่ มีผลข้างเคียงอะไรบ้างที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ควรจะรีบรายงานให้ทราบโดยเร็วที่สุด ผู้ป่วยควรปฎิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้อาการข้างเคียงของเคมีบำบัดดีขึ้นหรือหายไป
เกี่ยวกับการติดต่อบุคลากรทางการแพทย์
 ควรถามถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่คุณสามารถติดต่อได้เมื่อประสบปัญหาหรือพบข้อสงสัยระหว่างการรักษา
ข้อแนะนำในการปรึกษาแพทย์
 นำเพื่อนหรือคนในครอบครัวไปกับคุณเมื่อแพทย์ บุคคลเหล่านี้จะช่วยทำความเข้าใจสิ่งที่แพทย์แนะนำและยังช่วยเตือนความทรงจำคุณอีกด้วย
 ขอรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับการรักษามะเร็งจากแพทย์ของคุณ
 คุณหรือคนใกล้ตัวสามารถที่จะจดบันทึกสิ่งสำคัญระหว่างที่พบแพทย์
 คุณสามารถบอกแพทย์ให้พูดช้าลงในขณะที่คุณจดบันทึก
 อย่ากลัวที่จะถามคำถามคุณหมอ นางพยาบาล และเภสัชกร ได้มากเท่าที่คุณต้องการ ถ้าคุณไม่เข้าใจคำตอบ คุณสามารถถามได้จนกว่าคุณจะเข้าใจ

จากคู่มือการดูแลตัวเองของผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ดอกมาร์กาเร็ต


เข้าสู่ต้นฤดูหนาวกันแล้ว มาหาไม้ดอกสำหรับฤดูหนาวมาลองปลูกกันบ้าง ช่วยเพื่อบรรยากาศในบ้านของเราให้สดชื่นเพิ่มมากขึ้น ขอแนะนำดอกมาร์กาเร็ต ที่มีสีม่วงและขาว จริงๆแล้วก็ปลูกได้ทุกฤดู แต่ในฤดูหนาวจะสวยเป็นพิเศษ หาพันธ์ุมาปลูกกันเลยค่ะ
ต้นมาร์กาเร็ต ชื่อวิทยาศาสตร์ ASTER NOVIBELGII L., MICHAELMAS DAISY  วงศ์ COMPOSITAE ต้นมาร์กาเร็ตเป็นพืชล้มลุกอายุยืนหลายปี ลำต้นเป็นแบบไหลทอดเลื้อยตามพื้นดินมีข้อปล้องสั้นและสามารถงอกต้นใหม่ได้ตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปใบหอกปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักซี่ฟัน ใบออกแบบเรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อ มีสีม่วงและขาว ออกดอกได้ตลอดทั้งปี
การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการแยกต้น
การปลูก ปลูกกับดินร่วน ให้น้ำสม่ำเสมอ ชอบแสงแดด
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ













มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาเคมีบำบัดกันเถอะ



เคมีบำบัดคืออะไร ?
เคมีบำบัด คือ การรักษามะเร็งด้วยยาซึ่งสามารถที่จะทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งยาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเรียก " ยาต้านมะเร็ง"
กระบวนการเคมีบำบัดทำงานอย่างไร?
 เซลล์ปกติในร่างกายจะมีอายุของเซลล์โดยเมื่อถึงเวลาร่างกายจะสามารถกำจัด กำหนดให้เซลล์เหล่านั้นตายได้ตามระยะเวลาที่ร่างกายเป็นตัวกำหนด แต่เมื่อเซลล์เกิดความผิดปกติ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตและจะพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็. ยาต้านมะเร็งจะทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการหยุดยั้งมันไม่ให้เจริญเติบโตหรือแบ่งตัวซึ่งเซลล์ปกติก็จะเป็นอันตรายด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซลล์ที่แบ่งตัวได้เร็ว ซึ่งอันตรายที่เกิดขึ้นกับเซลล์ที่ปกตินี้ เราเรียกว่า " ผลข้างเคียง" แต่เซลล์เหล่านี้มักจะซ่อมแซมตัวเองได้ภายหลังการให้เคมีบำบัด
 การใช้ยาบางตัวสามารถให้ผลการรักษาที่ดีกว่าเมื่อใช้ร่วมกับตัวอื่นมากกว่าตัวมันอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึงมีการให้ยาสองหรือสามตัวในเวลาเดียวกัน ซึ่งเราเรียกว่า Combination chemotherapy
 มียาอีกบางจำพวกที่ใช้ในการรักษามะเร็งโดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายหรือแพทย์อาจจะใช้ " Biological therapy" ซึ่งเป็นการรักษาโดยใช้สารเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกันของระบบร่างกายเพื่อต้านมะเร็ง ร่างกายคนปกติจะสร้างสารเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้วแต่มีในปริมาณน้อย โดยร่างกายจะผลิตมาเพื่อต้านมะเร็งและโรคต่าง ๆ ปัจจุบันสารเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นได้ในห้องทดลองและให้กับคนไข้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดเนื้อร้าย สารเหล่านี้อาจช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองหรือกระทั่งทำให้เซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่ถูกทำลายโดยเคมีบำบัด

เคมีบำบัดสามารถทำอะไรได้บ้าง
 ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและระยะอาการของโรค เคมีบำบัดสามารถใช้เพื่อจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน
 เพื่อรักษามะเร็ง โดยจะประเมินว่ามะเร็งถูกรักษาแล้วเมื่อไม่สามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งในคนไข้
เพื่อควบคุมมะเร็ง สามารถกระทำโดยควบคุมเซลล์มะเร็งไม่ให้แพร่กระจาย ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตช้าลง และฆ่าเซลล์มะเร็งซึ่งอาจจะลามไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
เพื่อบรรเทาอากรที่เกิดขึ้นจากการเป็นมะเร็ง เช่น อาการเจ็บปวด เพื่อช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เราจะได้รับเคมีบำบัดเป็นจำนวนและเวลานานเท่าใด?
เราจะได้รับเคมีบำบัดเป็นจำนวนและนานเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับ
ชนิดของมะเร็งที่เป็น
จุดมุ่งหมายการรักษา
ชนิดของยาที่ใช้
ร่างกายของผู้ป่วยตอบสนองต่อยามากน้อยแค่ไหน
 เราอาจได้รับเคมีบำบัดทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และผู้ป่วยมักจะได้รับเคมีบำบัดเป็นรอบ ๆ ซึ่งประกอบด้วยช่วงรักษาและช่วงพัก ช่วงพักตัวจะช่วยให้ร่างกายสร้างเซลล์ใหม่ที่แข็งแรงและเพิ่มพละกำลัง
เราสามารถรับประทานยาอื่นใดได้หรือไม่ในขณะรับเคมีบำบัด?
 ยาบางตัวอาจจะมีปฎิกิริยาตอบสนองหรือต่อต้านต่อเคมีบำบัด ให้คุณรายงานรายละเอียดยาที่คุณใช้อยู่ทั้งหมดแก่แพทย์ก่อนได้รับเคมีบำบัด รวมถึง ชื่อของยาที่ใช้ ปริมาณยาที่ใช้ เหตุผลที่ใช้ยา ความถี่ที่คุณรับยา โปรดรายงานแพทย์ถึงการรักษาที่คุณได้รับทั้งหมดก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึง วิตามิน ยาระบาย ยาสำหรับแก้แพ้ ยาช่วยย่อย ยาแก้หวัด แก้ไข้ ยาแก้ไข้แก้ปวด เช่น Aspirin
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเคมีบำบัดที่ได้รับ ได้ผลหรือไม่?
 แพทย์และพยายาลจะใช้วิธีการต่าง ๆ ในการประเมินผลว่าเคมีที่ได้รับนั้นได้ผลหรือไม่ คุณอาจจะได้รับการสอบถามและการทดสอบทางกายภาพบ่อยครั้งโปรดอย่าลังเลที่จะถามแพทย์เกี่ยวกับผลการรักษาและความก้าวหน้าของอาการ

จากคู่มือการดูแลตัวเองของผุ้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด



วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

จะทำอย่างไร เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง



การเตรียมพร้อมตนเองก่อนการรักษามะเร็ง
 ควรแจ้งญาติให้ทราบและปรึกษาแพทย์รวมถึงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์พร้อมทั้งถามถึงกระบวนการรักษา อย่ากังวลที่จะถามถึงรายละเอียดการรักษา และควรถามถึงการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้ารับการรักษาต้องทำตัวอย่างไร การเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง พร้อมที่จะเข้ารับการรักษาให้มากที่สุด โดยวิธีง่าย ๆ ได้แก่
1. มองโลกในแง่ดี
 ผู้ป่วยควรมองโลกในแง่ดี ปรึกษาปัญหาที่กังวลกับบุคลากรทางการแพทย์หรือเพื่อนผู้ป่วยที่เคยผ่านการรักษามาแล้ว รวมถึงการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
2. อาหารครบถ้วน
 หากผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วนก่อนทำการรักรักษาแล้วจะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันเนื้อเยื่อส่วนที่ดีจากการถูกทำลายจากการรักษา และยังช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันการติดเชื้อได้
3. อาหารว่าง
 ในระหว่างการรักษาร่างกายผู้ป่วยมักจะมีความต้องการพลังงานและโปรตีนมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นควรมีการจัดอาหารว่างเสริมเพื่อป้องกันน้ำหนักตัวลดลงและช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยอาหารว่างที่จะจัดขึ้น ควรเป็นแบบที่รับประทานง่ายมีพลังงานสูง
 รับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
 อาหารว่างควรให้พลังงานจากโปรตีนและให้หลากหลาย เช่น โยเกิร์ต ธัญพืชใส่นม แซนวิช ซุปข้น ข้าวตังหน้าตั้ง ไข่หวานใส่น้ำขิง และกระทงทอง เป็นต้น
 หลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งเสริมให้อาการข้างเคียงแย่ลง เช่น หากมีอาการท้องเสียไม่ควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวโพดคั่ว ผลไม้สด และผักสด เป็นต้น หรือถ้ามีแผลในช่องปากไม่ควรรับประทานอาหารที่มีลักษณะเป็นกรด เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เป็นต้น



จากหนังสือคู่มือการดูแลตัวเองของผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด

วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปลูกผักสวนครัวกันเถอะ ( ย่านาง )



ย่านาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tiliacora triandra ( Colebr. )  Diels วงศ์ Menispermaceae ย่านางเป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นเป็นเถากลมมีสีเขียว มีความยาว 10-15 เมตร ชอบเลื้อยพันต้นไม้หรือค้างที่เราทำให้และมีเหง้าอยู่ในดิน
ใบของย่านาง เป็นใบเดี่ยว ใบหนาสีเขียวเข้มเป็นมัน เรียงแบบสลับ เป็นรูปไข่ ยาว6 - 12 เซนติเมตร ใบกว้าง 4 - 6 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม โคนใบมน
ดอกออกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามข้อและซอกใบ ดอกมีสีเหลือง มีผลออกเป็นกลุ่ม ผลดิบสีเขียวเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกออกเดือนมีนาคมถึงเมษายน
การขยายพันธุ์ โดยการชำหัวเหง้าใต้ดินและการเพาะเมล็ด ปลูกได้กับดินทั่วไป ชอบแสงแดด และให้น้ำสม่ำเสมอ
ประโยชน์ใช้ในการประกอบอาหาร เช่นใช้ใบคั้นน้ำใส่ในแกงหน่อไม้ หรือซุปหน่อไม้ และใช้เป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย เช่นใช้ราก ต้นน้ำใช้แก้ไข้ เป็นต้น