วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

การคุ้มครองฟัน


 ฟันเป็นอวัยวะที่สำคัญมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าอวัยวะอื่นใดของร่างกาย หน้าที่หลักของฟันคือบดเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อจะได้กลืนอย่างสะดวก ทั้งทำให้อาหารนั้นย่อยได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ฟันยังมีประโยชน์เพื่อการออกเสียงและเพื่อความสวยงาม โดยเฉพาะส่วนใบหน้า ทำให้ใบหน้าไม่ตอบเหี่ยวย่นกว่าวัยอันควร
 เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ในชีวิตของคนเรามีฟันเพียง 2 ชุดเท่านั้นคือ ฟันน้ำนมและฟันแท้ ( ฟันถาวร )
 ฟันน้ำนม มีลักษณะซี่เล็กขึ้นตามลำดับทีละซี่ ขึ้นครบ 20 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 2 - 2 1/2 ปี
 ฟันแท้หรือฟันถาวร มีลักษณะซี่ใหญ่กว่าขึ้นครบ 32 ซี่เมื่ออายุ 17 - 21 ปี ฟันแท้หรือฟันชุดสุดท้ายจะสามารถใช้ถาวรได้ตลอดชีวิตของผู้บริโภคหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่ามีการป้องกันโรคฟันหรือไม่
 ปัญหาโรคฟันเกิดขึ้นได้กับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้ขึ้นกับสุขนิสัยในการรับประทานอาหารและการรักษาความสะอาดของปากและฟัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัณของฟันและปัญหาโรคฟันจึงขอเสนอวิธีปฎิบัติสำหรับหญิงมีครรภ์ และผู้บริโภคในวัยต่าง ๆ โดยเรียบเรียงจากเอกสารของกองทันตสาธารณสุข สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ดังนี้
 หญิงมีครรภ์
 การเปลี่ยนแปลงของภาวะร่างกายในหญิงมีครรภ์ เช่น การเปลี่ยนแปลงปริมาณฮอร์โมนทำให้เหงือกไวต่อสิ่งรบกวน การแพ้ท้องการกินอาหารจุบจิบพร่ำเพื่อ และการไม่รักษาความสะอาดปากฟันอาจทำให้เหงือกอักเสบ บวมโต เลือดออกง่าย และอาจทำให้ฟันผุติดตามมาได้
หลักปฎิบัติของหญิงมีครรภ์
 1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมเกลือแร่ต่าง ๆ ซึ่งได้จากผักสด ผลไม้สด นม ไข่ เนื้อสัตว์ ทั้งนี้เพื่อความสมบูรณ์ของร่างกายเด็กรวมทั้งฟันของเด็กด้วย เพราะฟันเริ่มสร้างตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา
2. ลดอาหารที่เป็นโทษต่อฟันเช่น ของหวานติดฟันง่าย อาหารเปรี้ยวจัด เปื่อยเหนียวหรือแข็งเกินไป
3. แปรงฟันให้สะอาด และถูกต้องอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และควรบ้วนปากทุกครั้งหลังการกินอาหารว่าง
4. เมื่อตรวจครรภ์แล้ว ควรพบทันตแพทย์ด้วยเพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก และบำบัดรักษา ถ้าฟันผุมากจำเป็นต้องถอนก็ควรถอนออกไม่ควรปล่อยไว้เพราะจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ซึ่งอาจกระจายไปถึงเด็กในครรภ์ได้
แรกเกิด - 6 ปี
 ปํญหาในช่องปากของทารกในระยะที่ยังไม่มีฟัน มักเกิดจากการติดเชื้อจากภายนอก และความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่ก่อนเกิด เมื่อมีฟันปัญหาที่ติดตามมาก็คือ ฟันผุซึ่งฟันเด็กถ้าผุแล้ว จะลุกลามเร็วกว่าฟันผู่ใหญ่มาก เด็กวัยนี้จึงควรได้รับการดูแลดังนี้
1. เมื่อเป็นทารกควรให้นมเป็นเวลา ภายหลังให้นม ต้องหัดให้เด็กดูดน้ำตาม และอย่าปล่อยให้เด็กดูดนมจนหลับโดยมีขวดนมคาปาก เพราะจะทำให้ฟันผุทั้งปาก
 การทำความสะอาดปากของเด็กมีความจำเป็นมาก ทั้งเมื่อฟันยังไม่ขึ้นหรือขึ้นเพียง 2 - 3 ซี่ ควรใช้ผ้าหรือสำลีชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดในปากให้เด็กอย่างน้อยวันละ 8 ครั้ง เมื่อฟันขึ้นหลายซี่แล้วควรหาแปรงสีฟันเล็ก ๆ ที่ขนแปรงอ่อน แปรงฟันให้เด็กด้วย
2. อายุประมาร 2 ปีขึ้นไปเด็กมีฟันเคี้ยวอาหารแล้ว ควรให้เด็กได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักสด ผลไม้สด เพราะอาหารพวกนี้นอกจากจะให้คุณค่าต่อร่างกายแล้ว ยังทำให้ฟันได้ทำหน้าที่บดเคี้ยวเต็มที่ ช่วยกระตุ้นการเจริญของกระดูกขากรรไกรและช่วยขัดถูฟัน นอกจากนั้นควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟัน และสร้างความคุ้นเคย และหากมีสิ่งผิดปกติจะได้รีบรักษา ไม่ควรรอจนเด้กร้องเจ้บปวดฟัน เพราะอาจรักษาไม่ได้ทำให้เด็กต้องถูกถอนฟันไปก่อนเวลาอันควร
อายุ 6 - 14 ปี
 เป็นช่วงอายุที่มีทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้ โดยฟันแท้ซี่แรกเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 ปี เป็นฟันกรามใหญ่ซี่ที่1 ขึ้นต่อท้ายฟันน้ำนมซี่ในสุด และฟันล่างมักจะขึ้นก่อนฟันบนฟันซี่อื่นขึ้นติดตามมา แต่ส่วนใหญ่ฟันซี่นี้มักจะผุและถูกถอนทิ้ง เพราะเข้าใจกันว่า เป็นฟันน้ำนม
 เมื่อกรามแท้ซี่แรกขึ้นแล้ว ฟันน้ำนมซี่เล็ก ๆ ที่อยู่ด้านหน้าจะโยกและหลุดออก ฟันแท้ก็จะขึ้นแทนที่ซึ่งจะเป็นไปตามลำดับ จนอายุ 12 ปีฟันน้ำนมควรหลุดออกหมด
 ช่วงอายุ 6 - 14 ปีนี้เป็นช่วงวัยเรียน สภาพแวดล้อม และการปฎิบัติตนในโรงเรียนมีอิทธิพลต่อสุขภาพปากและฟันของเด็ก โรงเรียนและครูจึงมีบทบาทต่อการสร้างสุขนิสัยเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคสามารถช่วยเหลือเด็กของท่านได้โดยยึดหลักปฎิบัติดังนี้
1. ให้เด็กได้รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนอกจากอาหาร 5 หมู่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการแล้วควรฝึกให้เด็กรับประทานผักสดผลไม้สด เพราะจะช่วยขัดถูฟันบริหารเหงือกและฟันให้แข็งแรง และกระตุ้นให้กระดูกขากรรไกรเจริญได้สัดส่วน
2. แนะแนวให้เด็กลดการรับประทานทอฟฟี่ ขนมหวานหรืออาหารที่ทำลายฟัน ถ้าจะรับประทานก็ควรเป็นมื้อ เป็นคราว ไม่พร่ำเพรื่อข้อสำคัญต้องบ้วนปากหรือแปรงฟันให้สะอาดด้วย
3. ฝึกหัดเด็กให้แปรงฟันอย่างถูกต้อง

วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว
 เป็นวัยที่ฟันผุมากที่สุด เพราะเด็กวัยรุ่นมักหิวบ่อย และชอบรับประทานของขบเคี้ยว ขนมหวานและลูกอมต่าง ๆ นอกจากนี้เด็กวัยรุ่นมักจะมีปัญหาโรคเหงือก ที่เป็นกันมาก คือ เหงือกอักเสบ
 หลักปฎิบัติสำหรับวัยรุ่น
1. รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และช่วยขัดถูฟัน ลดอาหารที่เป็นโทษต่อฟัน
2. ฝึก การรับประทานให้เป็นเวลา
3. ควรใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารทั้งซ้ายและขวา เพราะการเคี้ยวจะช่วยบริหารเหงือกและฟัน ไม่ควรใช้ฟันผิดหน้าที่ เช่นขบกัดของแข็ง เช่น ขอ เข็ม ตะปู หรือเปิดจุกขวด เพราะอาจทำให้ฟันบิ่น แตก เสียหาย
4. รักษาความสะอาดของปาก และฟันโดยแปรงฟันอย่างถูกต้อง
5. ตรวจสภาพฟันด้วยตยเองทุก ๆ วันหลังแปรงฟัน และให้ทันตแพทย์ตรวจฟันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะถ้าพบสิ่งผิดปกติจะได้รีบแก้ไขหรือรักษา ไม่ควรปล่อยจนมีอาการเพราะอาจรักษาไม่ได้ ทำให้ต้องสูญเสียฟันแท้

วัยผู้ใหญ่
 ถ้าได้ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากมาตั้งแต่ต้น เมื่อเข้าวัยผู้ใหญ่ฟันมักจะไม่ผุเพิ่มขึ้น ถ้าผุก็จะลุกลามช้ากว่าฟันผุในเด็ก ทั้งนี้เพราะฟันของผู้ใหญ่มีความแข็งแกร่งมากกว่าและโพรงประสาทแคบกว่าตอนเป็นเด็ก แต่โรคที่ทำให้ต้องเสียฟันกันมากในวัยนี้คือ โรคปริทันต์ซึ่งเป็นโรคของเหงือกและอวัยวะรอบฟันโรคนี้มีผลเสียมากกว่าโรคฟัน มักเป็นหลายซี่ติดต่อกันการรักษายุ่งยากและเสียเวลามากกว่าโรคฟันผุ แม้จะได้รับการรักษาแล้วถ้าผู้บริโภคไม่ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีโดยปฎิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ การรักษาก็จะไม่ได้ผล สุดท้ายฟันโยกมาก รักษาไว้ไม่ได้อีกต่อไปก็ต้องถอน ซึ่งบางคนอาจต้องถอนทิ้งหมดทุกซี่ ทั้ง ๆ ที่ฟันไม่ผุเลย ผลเสียของโรคนี้อีกประการหนึ่งคือ โดยที่โรคปริทันต์มีการทำลายของกระดูกหุ้มรอบรากฟันด้วย ดังนั้น เมื่อต้องถอนฟันออก สันกระดูกจะแบนราบมาก ทำให้ใส่ฟันปลอมไม่ได้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะหากต้องใส่ฟันปลอมทั้งปาก

 เหงือกร่น
เหงือกร่น หมายถึง การที่เหงือกซึ่งโดยปกติจะหุ้มอยู่บริเวณรอบคอฟัน หดตัดร่นจากคอฟันทำให้มองเห็นส่วนของรากฟันโผล่ออกมา รากฟันเป็นส่วนที่ไวต่อการรับความรู้สึกเมื่อเหงือกร่นมากก็จะทำให้เกิดอาการเสียว หรือเจ็บปวดทำให้ไม่อยากแปรงฟันบริเวณนั้นเมื่อไม่แปรงฟัน แผ่นคราบจุลินทรีย์จะสะสมมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือฟันและเหงือกอักเสบมากยิ่งขึ้นบางคนเมื่อเหงือกร่น ประกอบกับแปรงฟันอย่างไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้ฟันสึก เป็นแอ่งบริเวณคอฟันและรากฟัน อาการและการลุกลามจะต่อเื่องเป็นลูกโซ่
 หลักปฎิบัติในวัยผู้ใหญ่
 นอกจากปฎิบัติตามที่เคยทำมาแต่แรกแล้ว ควรให้ความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้เพิ่มขึ้น คือ
1. แปรงฟัน และนวดเหงือกให้สะอาดอย่างถูกต้องสม่ำเสมอทุกค่ำเช้า
2. ใส่ฟันปลอมทดแทนฟันที่สูญเสียไปแล้ว
3. ให้ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำอย่างน้อยที่สุดปีละ 1 ครั้ง

วัยสูงอายุ
 ผู้สูงอายุส่วนมากถูกถอนฟันไปแล้วหลายซี่จากโรคฟันผุ และอื่น ๆ ฟันที่เหลือก็มีสภาพไม่สมบูรณ์ฟันแตกหัก บิ่น โยก เหงือกร่น ฟันผุ ฯลฯ ผู้สูงอายุบางรายไม่ได้ใส่ฟันปลอมแทน หรืออาจใส่แต่ไม่เรียบร้อย
ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ถนัดประกอบกับความเสื่อมของสภาพร่างกายตามวัย เมื่อประสิทธิภาพการบดเคี้ยวลดลง ก็จะกระทบต่อระบบการย่อยอาหารทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารบางประเภทไม่ได้ท้องอืด ท้องเฟ้อง่ายขึ้น นอกจากนั้นหากปล่อยให้มีโรคในช่องปากเชื้อโรคก็จะแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกายทำให้ความสามรถในการซ่อมแซมร่างกายของผู้สูงอายุน้อยลง ซึ่งจะยิ่งทำให้สุขภาพโดยทั่วไปเสื่อมโทรมลงด้วย
 หลักปฎิบัติในวัยผู้สูงอายุ
1. พบทันตแพทย์ เพื่อตรวจรักษาหรือแก้ไขส่วนที่พอรักษาได้ ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ถ้ารักษาไม่ได้แล้วก็ควรถอนออก และใส่ฟันปลอมที่เหมาะสมแทน เมื่อรักษาแก้ไขหรือใส่ฟันเรียบร้อยแล้ว ก็ควรไปตรวจฟันเป็นระยะ ๆ อย่างน้อยที่สุดปีละ 1 ครั้ง
2. รักษาความสะอาดของปากเหงือก ฟัน และฟันปลอมให้สะอาดอยู่เสมอโดยการบ้วนปาก แปรงฟันอย่างถูกต้องทุกครั้งหลังอาหาร
3. ควรรีบปรึกษาแพทย์ เมื่อมีแผลเรื้อรังในปาก เช่น บริเวณสันเหงือก ลิ้น เนื้อเยื่อในปาก กระพุ้งแก้ม เป็นต้น

ข้อมูลจากหนังสือรายการกระจายเสียง วิทยุศึกษา