Place, People, Photo, something, somewhere, sometime, some picture เก็บภาพและเรื่องราวของวันวาน สถานที่ ผู้คน เรื่องราว เก็บไว้ในความทรงจำ และคิดถึงกันตลอดไป และอีกอย่างหนึ่งฝากสติ๊กเกอร์ไลน์ของบล็อกกันด้วยนะคะ ให้กำลังใจกันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ *ภาพการ์ตูนและตัวการ์ตูนในบล็อกนี้ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในธุรกิจหรือเกี่ยวกับการพาณิชย์และกิจการโฆษณาใด ๆทั้งสิ้น นอกจากได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก P. Strawberry เท่านั้น
วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557
อบสมุนไพรรักษาโรค
สมุนไพรเป็นการรักษาแบบแผนไทยชนิดหนึ่ง ซึ่งมีมานานแล้วนอกเหนือไปจากการกิน ทา ประคบ รม นัด โกรก หรืออาบน้ำสมุนไพร การรักษาโดยการอาบน้ำสมุนไพรนั้นมีจุดเด่น และสามารถนำไปใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบันได้หลายโรคทำให้เกิดผลดี ประหยัดค่าใช้จ่าย ที่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบันโดยไม่จำเป็น
การอบสมุนไพรที่ใช้กันอยู่ประกอบด้วยสมุนไพร 4 ประเภท
ประเภทที่ 1 สมุนไพรพวกน้ำมันหอมระเหย จะเป็นสมุนไพรสดหรือแห้งที่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่คนที่เข้ากระโจมจะสูดดมน้ำมันหอมระเหยเข้าไป ถ้าสามารถหาของสด ๆ ได้ก็จะดีกว่าแห้งเพราะสมุนไพรแห้งขณะทำให้แห้งจะสูญเสียสารสำคัญบางส่วนไป สมุนไพรพวกนี้มักเป็นเหง้าหรือถ้าเป็นใบก็จะมีกลิ่นหอม เช่น เหง้าขมิ้นชัน, เหง้าขมิ้นอ้อย, เหง้าไหล, เหง้าว่านน้ำ, ใบส้มโอ, ใบมะนาว, ใบหนาด, ใบและต้นตะไคร้หอมเป็นต้น
ประเภทที่ 2 สมุนไพรพวกนี้จะมีรสเปรี้ยว ทำให้น้ำต้มมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ได้แก่ใบและฝักของส้มป่อย ใบมะขาม ผลมะกรูด เป็นต้น
ประเภทที่ 3 เป็นสารที่ถูกความร้อนแล้วระเหยออกมาหอม เช่น การบูร พิมเสน เป็นต้น
ประเภทที่ 4 เป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาเฉพาะโรค เช่น ต้องการรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคันก็เติมใบกิ่งสำมะดัง, ผักบุ้งรั้ว ฯลฯ หรือต้องการรักษาหวัดคัดจมูกก็เติมหัวหอม หัวเปราะหอม ฯลฯ
การอบสมุนไพร จะต้องต้มสมุนไพรกับน้ำจนเดือด ไอน้ำจะพาตัวยาซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยออกมาอบตัวผู้ที่อบอยู่ในกระโจม ยากับไอน้ำจะถูกตัวและหายใจเข้าไปจึงมีผลต่อร่างกายอย่างยิ่งเฉพาะที่ผิวหนังและทั่วร่างกายจากการหายใจเอาตัวยาเข้าไปซึ่งเป็นผลของความร้อนจากไอน้ำและผลจากตัวยา คือน้ำมันหอมระเหย
ไอน้ำ ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้นเหงื่อออกมากขึ้น เพราะรูขุมขนเปิดมากกว่าปกติ เมื่อไอน้ำเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ จะทำให้เกิดความชุ่มชื้น ช่วยให้เสมหะถูกขับออกได้โดยสะดวก
น้ำมันหอมระเหยช่วยให้จมูกโล่ง ศรีษะโปร่งเบา สบาย น้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีฤทธิ์ระงับเชื้อด้วย
สมุนไพรที่นิยมใช้ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ใบกระเพรา ขมิ้น หัวหอม ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชสวนครัวหาได้ง่ายราคาไม่แพง สมุนไพรเหล่านี้จะให้น้ำมันระเหยหอม ซึ่งจะถูกพาไปกับไอน้ำ นอกจากนี้ยังมีการใช้ผักบุ้งเฉพาะผักบุ้งเหมาะสำหรับเวลาเริ่มเป็นหวัดหรือรู้สึกเมื่อยขบ ครั่นเนื้อ ครั่นตัว เมื่อใช้อบตัวพอเหงื่อออกอาการหวัดจะทุเลา เบาตัวและตาสว่าง
เนื่องจากการอบสมุนไพรทำให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น จึงทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด สมอง หัวใจ ฯลฯ นอกจากนี้ยังขับเหงื่อเพิ่มขึ้นนับว่าเป็นการกำจัดของเสียออกจากร่างกายอีกวิธีหนึ่งซึ่งจะลดภาวะของไตในการขับของเสียได้ ทำให้ร่างกายเบาสบายหายปวดเหมื่อย
การอบสมุนไพรในกระโจมหรือห้องเล็ก ก่อนที่จะอบสมุนไพรต้องทราบก่อนว่ามีโรคหรืออาการอะไรบ้าง ที่แสลงตัวการอบสมุนไพร เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคลมบ้าหมู เสียเลือด ( ตกเลือด ) ท้องเดิม ฯลฯ ถ้าสงสัยควรให้แพทย์ตรวจร่างกายเสียก่อนว่าอบสมุนไพรได้หรือไม่
ขณะอบสมุนไพรต้องระวังไฟฟ้าน้ำร้อนลวกต้องมีช่องลมถ่ายเทได้สะดวก กระโจมที่อบต้องไม่แคบหรือแออัด ไม่อบนานเกินไป เพราะจะเสียเหงื่อและเกลือแร่มากเกินไปควรอบให้มีเหงื่อซึมก็พอ เมื่อเลิกอบสมุนไพรแล้วอย่าไปตากลมทันที ต้องเช็ดตัวให้แห้ง พักสักครึ่งชั่งโมงและควรดื่มน้ำน้ำส้มหรือน้ำมะนาวสักหนึ่งแก้วโดยไม่ใส่น้ำแข็งจะช่วยให้ร่างกายสดชื่นไม่อ่อนเพลีย
สมุนไพรที่ใช้เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
1. แพ้อากาศ
สูตรที่ 1 เปราะหอม, ข่า, ผิวมะกรูด, ตะไคร้, หัวหอม, ขิง, ผักบุ้ง
สูตรที่ 2 เปราะหอม, มะกรูด, เมนทอล, หนุมานประสานกาย, ใบกรวยป่า, สะระแหน่ต้น
2.หลอดลมอักเสบ
สูตรที่ 1 ใบหนาด, มะกรูด, ตะไคร้, เมนทอล, ใบหูเสือ, หนุมานประสานกาย, การบูร
สูตรที่ 2 ใบกรวยป่า, ใบหนาด, เปล้าน้อย, ส้มป่อย, เมนทอล,
สมุนไพรที่ใช้เกี่ยวกับโรคผิวหนัง
1. แก้คัน
สูตรที่ 1 ขมิ้นชัน, เลี่ยนดอกม่วง, เหงือกปลาหมอ, ส้มป่อย, ใบมะขาม
สูตรที่ 2 ทองพันชั่ง, ชุมเห็ดเทศ, ใบเลี่ยนดอกม่วง, ขี้เหล็กป่า, เหงือกปลาหมอ
สมุนไพรที่ใช้เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อ
1. ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
สูตรที่ 1 เถาวัลย์เปรียง, โคคลาน, ทองพันชั่ง, ฟ้าทะลายโจน, ขี้เหล็ก, ไพล
สูตรที่ 2 ส้มป่อย, มะขาม, อังกาบแดง, ผักเสี้ยนผี, โคคลาน,ทองพันชั่ง, ไพล
สูตรที่ 3 ไพล, เถาเอ็นอ่อน, ใบมะขาม, ตะไคร้หอม, ข่าอื่น ๆ
ยาสมุนไพรประกอบด้วย ส้มเสี้ยว, ใบหนาด, ใบมะขาม, ใบส้มกบ
การอบสมุนไพรมีประโยชน์หลายประการดังที่กล่าวมาแล้วก้ตามแต่ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้เช่นกันก่อนที่ใช้ควรระวัง
บทความ เรียบเรียงจาก วัฎจักร วงการแพทย์ ฉบับที่ 61 จากหนังสือรายการกระจายเสียง ของวิทยุศึกษา ฉบับเดือน มีนาคม 2536 หน้า 32 - 35