ประวัติ
พระสมุทรเจดีย์ก่อสร้างขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( รัชกาลที่ 2 ) คราวเสด็จประภาสเมืองสมุทรปราการเพื่อทอดผ้าพระกฐิน ณ. วัดพิชัยสงคราม โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพกับพระยาราชสงคราม เขียนแบบแผนผังรูปพระมหาเจดีย์ถวายทอดพระเนตรทรงพระราชทานนามว่า " พระสมุทรเจดีย์ " และพระราชทานนามเมืองสมุทรปราการเป็นไปเพียงเท่านี้ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อนในปีพุทธศักราช 2367
ภายหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ณ. วันอังคาร เดือน 12 ขึ้น 10ค่ำ ปีกุน ให้พระยาศรีธรรมราช ( น้อย ) กับพระยาพระคลัง ( ดิส ) เป็นแม่กองงานสร้างพระมหาเจดีย์ตามแบบแปลนที่เขียนไว้เดิม เมื่อสร้างเสร็จเป็นพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ฐานกว้าง 10 วา สูง 9 ศอก ชั้นที่ 2 ยาวเหลี่ยมละ 5 วา สูง 2 ศอกคืบหน้ากระดาน องค์พระเจดีย์สูงถึงยอด 9 วา 3 ศอก พร้อมสร้างศาลาราย 4 หลังเป็นเก๋งจีน รวมพระราชทรัพย์สิ้นไป 133 ชั่ง 10 ตำลึง 9 บาท ใช้เวลาก่อสร้าง 211 วัน เมื่อสร้างเสร็จทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ. คอระฆังพระสมุทรเจดีย์
พ.ศ. 2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประภาสเมืองสมุทรปราการเห็นว่า พระสมุทรเจดีย์ต่ำเกินไปจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระรวิวงศ์มหาโกษาธิบดี ( ขำ บุญนาค ) และพระยาอมรเดชมหาราชสร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่ โดยโปรดเกล้าฯให้ถ่ายแบบเจดีย์ลอมฟางมาจากกรุงศรีอยุธยาสวมทับพระเจดีย์องค์เดิมจนมีความสูงเพิ่มเป็น 19 วา 2 ศอกคืบ พร้อมโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหารใหญ่หันหน้าออกทะเล สร้างพระเกี้ยว 4 องค์ พระแท่นสำหรับวางเครื่องบูชาหอระฆัง และหอเทียนอย่างละคู่ สิ้นพระราชทรัพย์ 588 ชั่ง และทรงทราบเรื่อง พระบรมสารีริกธาตุซึ่งบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์เดิมหาย จึงโปรดพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้และเสด็จทรงบรรจุด้วยพระองค์ เมื่อ วันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือนยี่ พ. ศ. 2404 ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมรค เสด็จมาทรงยกยอดพระสมุทรเจดีย์ห่มผ้าแดง
พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเป็นแม่กอง ซ่อมแซมพระวิหาร ศาลาสี่ทิศ สำหรับวิหารน้อยสองหลังและศาลาที่พักทางทิศเหนือชำรุดมากโปรดเกล้าฯ ให้พระยานุวงศ์มหาโกษาธิบดีรื้อถอนและสร้างศาลาโถง 5 ห้อง ขึ้นแทนพร้อมสร้างฐานโพธิ์ ปลูกต้นโพธิ์
ลักษณะองค์พระพระสมุทรเจดีย์
เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานล่างย่อมุมไม้สิบสอง คติการสร้างโดยรวมต้นแบบเป็นอย่างสุโขทัย เพิ่มเติมอย่างรัตนโกสินทร์รอบนอกเป็นกำแพงแก้ว สูง 2 ศอกคืบ มีช่องทางเดินสำหรับทักษิณาวัตรฐานล่างเจาะเป็นซุ้มช่อง 40 ช่อง แต่ละช่องมีช้างเผือกยืนหันหน้าออก บันไดขึ้นสู่ชั้น 2 และ 3 ส่วนมุมทั้ง 4 มีพระเเกี้ยวมุมละ 1 องค์ ชั้นนี้มีทางเดินโดยรอบองค์พระเจดีย์ที่ฐานเจดีย์ชั้นนี้จะมีซุ้มจระเข้นำขึ้นไปเป็นฐานล่างของเจดีย์ทรงกลม นับเป็นฐานบัวคว่ำ บัวหงาย ขึ้นไปถึงองค์ระฆังเสาหานปล้องไฉน ส่วนยอดสุดตรงหยาดน้ำคางสร้างได้สัดส่วนสวยงาม ในแต่ละปีจะมีงานสมโภชในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 11 และจะมีพิธีห่มผ้าแดงองค์พระสมุทรเจดีย์เต็มพื้นที่ครอบระฆังเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
ข้อมูลหนังสือวัฒนธรรมพัฒการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณะและภูมิปัญญาจังหวัดสมุทรปราการ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2542