วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำชม..ใคร ๆ ก็อยากได้



บล็อกนี้นำบทความจากหนังสือรายการกระจายเสียงมาเล่าต่อให้เพื่อนฟังกันอีกนะค่ะ บทความเรื่อง คำชม ใคร ๆ ก็อยากได้ของ คุณ อินทิรา  ปัทมินทร นักจิตวิทยา กองสุขภาพจิต ที่พิมพ์ไว้ในหนังสือดังต่อไปนี้

คำชม...ใคร ๆ ก็อยากได้

ระหว่าง คำติ กับ คำชม คุณผู้อ่านชอบอย่างไหนมากกว่ากัน ถ้าทายไม่ผิด คิดว่าส่วนใหญ่คงชอบคำชมกว่า เพราะเมื่อได้ยินคำชมจิตใจย่อมจะเกิดความยินดี และเป็นปลื้มขึ้นมาทันทีใบหน้าก็ยิ้มแย้มได้โดยอัตโนมัติผิดกับเมื่อตอนถูกติ แม้จะเป็นการติเพื่อก่อก็ตาม ในขณะนั้นจิตใจย่อมจะขุ่นมัว ปากอยากจะตอบโต้หรือแก้ตัว อย่างดีคงได้แค่ยิ้มแค่น ๆ เท่านั้น

คำชม ก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อผู้ให้และผู้รับ คือ ผู้รับก็ชื่นใจผู้ให้ก็ได้รับไมตรี เป็นการตอบแทน ทั้งนี้ต้องเป็นคำชมอย่างจริงใจ ไม่ใช่ชมด้วยปากแต่ถากถางด้วยสายตา หรือชมในทำนองเสียดสี ซึ่งผู้รับอาจจะรู้สึกก้ำกึ่งกันว่ากำลังถูกชมหรือถูกติกันแน่ ไหน ๆ จะชมกันทั้งทีแล้วขอให้เหมาะกับกาลเทศะด้วยก็แล้วกัน

การชม ไม่ใช่การยกยอ การยกยอมักเป็นไปเพื่อหวังประโยชน์อะไรสักอย่าง และมักจะเป็นในลักษณะเลิศลอย ผิดความจริง ทำให้ผู้ฟังเหลิงเอาได้ง่าย ๆ พวกที่ชอบพูดยกยออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพวกประจบสอพลอซึ่งหาความจริงใจได้ยาก ถ้าคุณผู้อ่านรู้สึกตัวว่ากำลังถูกยกยออยู่ละก็ ให้เร่งระวังตัว ทำใจให้หนักแน่นเข้าไว้ มิเช่นนั้นอาจหลงตามคำเขา แล้วถูกหลอกใช้ได้ง่าย ๆ

 ในทางจิตวิทยา คำชม ถือเป็นการให้รางวัลอย่างหนึ่งด้วยเช่น เมื่อเด็กตั้งใจเรียน สอบได้คะแนนดี พ่อแม่อาจไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของเป็นรางวัลเสมอไปเพียงแค่โอบกอดแล้วชมเชยให้ชื่นใจเท่านั้นก็อาจจะเพียงพอแล้ว หรือในผู้ใหญ่ เมื่อลูกน้องทำงานดี หัวหน้าก็ควรจะชมเชยบ้าง เป็นการให้กำลังใจกัน แล้วสิ้นปีจะขึ้นเงินเดือน 2 ขั้นให้ด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะตามมาภายหลัง

 คำชม สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนได้ด้วย เด็กเกเรถ้าผู้ใหญ่ยิ่งดุยิ่งว่าก็ยิ่งจะเกเรหนักขึ้น แต่ถ้าหันมาชมเชยบ้าง มองหาข้อดีของเด็กให้พบพูดกับเขาดี ๆ ก็อาจจะกลับตัวกลับใจกลายมาเป็นคนดีได้ หรือในการทำงาน บางคนอาจจะทำงานดี แต่ไม่เคยได้รับการเอาใจใส่ หรือได้รับคำชมเชยจากเจ้านายบ้างเลย ก็อาจจะรู้สึกเนือย ๆ ทำงานไปวัน ๆ ถ้าเจ้านายหันมาใส่ใจลูกน้องและพูดจาชมเชยผลงานของเขาบ้าง ลูกน้องจะเกิดความภาคภูมิใจและตั้งใจทำงานมากขึ้น เพราะรู้สึกตัวว่าเป็นที่สนใจของเจ้านายอยู่เสมอ

 บางครั้งคนเราก็ชอบจับผิดกัน อย่างที่ว่ากันว่า " ความผิดของผู้อื่นเท่าขุนเขา ความผิดของเราเท่าเส้นผม "  คือ มองเห็นความผิดในตัวเราเอง เราจึงมักเห็นแต่ข้อเสีย ข้อด้อย ข้อไม่ดีของคนอื่น เลยหาเรื่องมาชมกันไม่ค่อยได้ จิตใจก็พาลจะคับแคบลงทุกที

เพราะฉะนั้น เพื่อเปิดใจตัวเองให้กว้างขึ้น ต่อแต่นี้ไปเราจึงน่าจะเปลี่ยนมาลอง " จับถูก " แทนการ " จับผิด " ดูบ้าง หาข้อดี ข้อเด่น ของผู้ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงหรือผู่ร่วมงานก็ตาม แล้วยกเอาข้อดีมาชมเชยให้เขาเหล่านั้น ชื่นใจกันบ้าง เราเองก็จะได้รับไมตรีเป็นการตอบแทน คงไม่มีใครจะโกรธ เกลียดคนที่ชมเรา

สามีควรชมภรรยาบ้างว่าทำอาหารอร่อย ภรรยาก็ชมสามีว่าเป็นคนดี รักครอบครัว พ่อแม่ชมลูกว่าเป็นเด็กน่ารัก เพื่อชมเพื่อนว่าเป็นคนดีมีน้ำใจ เจ้านายชมลูกน้องว่าทำงานดี มีความคิดริเริ่ม ฯลฯ เพราะใคร ๆ ก็อยากได้คำชมด้วยกันทั้งนั้น

วันนี้คุณชมใครบ้างหรือยังคะ?

ขอบคุณบทความดี ๆ อินทิรา ปัทมินทร์ จากหนังสือรายการจายเสียง วิทยุศึกษา เดือน พฤศจิกายน 2533 หน้า 37 - 39