วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

โรคมือ เท้า ปาก ( Hand, Foot and Mouth Disease )


โรค มือ เท้า ปาก
 เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็กศูนย์เด็กสถานที่เล่นของเด็กในห้างสรรพสินค้าโดยเฉพาะในที่อยู่รวมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้ โรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝน ซึ่งอากาศเย็นและชื้น

การแพร่ติดต่อ
 การติดต่อส่วนใหญ่จะเกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลายน้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของของป่วย และเกิดจากการไอจามรดกันโดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย สำหรับการติดเชื้อจากอุจจาระจะเกิดได้ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาจนกระทั้งหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือนแต่จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า

อาการของโรค
 หลังจากได้รับเชื้อ 3 -6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1- 2 วัน มีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้และไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้มจะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก ( มักไม่คัน ) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณรอบ ๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7 - 10 วัน

โรคมือ เท้า ปาก ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ที่ต้องเฝ้าระวังอาการ อย่างหนึ่งอย่างใด ต่อไปนี้ภายใน 3 - 5 วัน
- ไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส และนานกว่า 48 ชั่งโมง
- อาการซึมลง เดินเซ
- กระสับ กระส่าย ร้องกวนตลอดเวลา
- การกรอกตาที่ผิดปกติ
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- อาเจียนบ่อย ๆ
- กล้ามเนื้อกระดุก ชัก ไม่รู้สึกตัว
- หอบเหนื่อย
- ตัวเย็น ตัวลายซีด

การดูแลรักษา
- การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ( พาราเซตตามอล ) ดื่มน้ำเย็นหรือนมเย็น ๆ หรือไอศกรีม
- โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวด ในรายมีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
- ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมาก ๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด
- ตามปกติโรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกันโรค
 โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอานามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ( ก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหารภายหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการดูแลเด็กป่วย ) ตัดเล็บให้สั้นหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน ( เช่น ขวดนม แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ ) และใช้ช้อนกลาง

 สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย

การควบคุมโรค
 หากพบเด็กป่วย ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ๆ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5 - 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูกปากเวลาไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสน้ำมูกน้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย

 หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็ก ต้องดำเนินนการ ดังนี้
 - ปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว ( ประมาณ 5 - 7 วัน )
 - ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรค บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม สระว่ายน้ำ ครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว ( 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1 ลิตร ) หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน
 - ทำความสะอาดของเล่น เครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
 - หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดม่านให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง

ข้อมูลจากแผ่นพับ โรงพยาบาลบางจาก อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ