วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โรคปวดข้อรูมาตอยด์และโรคเก๊าท์


อาการปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นอาการที่พบได้เสมอในชีวิตประจำวัน เดินมาก ๆ เล่นกีฬาติดต่อกันนาน ๆ หรือทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง จะพบว่ามีอาการปวดเมื่อยตามแขน ขา ตามข้อต่าง ๆ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ส่วนใหญ่ถ้าหยุดพักผ่อนอาการเหล่านี้ก็มักจะหายไป แต่อาการปวดข้อที่เกิดจากโรคบางโรค ถึงแม้จะไม่ได้ออกกำลังหรือทำงานหนักก็อาจจะปวดได้ มักจะปวดอยู่นาน ปวดเรื้อรัง อาจทำให้ข้อเสื่อมสภาพ หรือพิการได้ เช่น ปวดข้อจากโรครูมาตอยด์และโรคเก๊าท์เป็นต้น

ปวดข้อรูมาตอยด์ ( Rheumatoid arthritis )
โรคปวดข้อรูมาตอยด์ จัดว่าพบได้บ่อย ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดข้อบางคนอาจจะสงสัยว่าตนเองเป็นโรคปวดข้อรูมาตอยด์หรือเปล่า จากสถิติพบว่าโรคนี้พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ประมาณ 4 - 5 เท่า อายุที่พบได้บ่อยก็มักจะเป็นช่วงอายุน้อยประมาณ 20 ปีขึ้นไป แต่โดยทั่วไปก็พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย
สาเหตุ
 เชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองผิดปกติต่อเชื่อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้ภูมิต้านทานเกิดปฎิกิริยาต่อเนื้อเยื่อบริเวณข้อของตัวเอง พบว่ามีอาการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งทั่วร่างกายพร้อมกัน ร่วมกับมีการอักเสบของพังผืด หุ้มข้อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ

อาการ
 ค่อยเป็นค่อยไป เริ่มด้วยมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ชาปลายมือปลายเท้า โดยเฉพาะเวลาถูกอากาศเย็น ๆ ปวดเมื่อยตามตัวและข้อต่าง ๆ ต่อมาจึงมีอาการอักเสบของข้อปรากฎ ข้อเริ่มอักเสบก่อน ได้แก่ ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ต่อมาจะเป็นข้อไหล่ ข้อศอก แล้วจะมีการอักเสบลุกลามไปทั่วทุกข้อของร่างกาย
 จะมีอาการปวดข้อพร้อมกันทั้งสองข้าง ข้อจะบวม แดง ร้อน นิ้วมือ นิ้วเท้า จะบวมเหมือนรูปกระสวย อาการปวดข้อ และข้อแข็งมักจะเป็นมากในเวลาอากาศหนาวเย็น หรือในตอนเช้า พอสาย ๆ จะค่อยทุเลาอาการปวดข้อจะเป็นอยู่ทุกวันเป็นเวลานาน บางระยะอาจทุเลาลงแต่จะกลับมากำเริบรุนแรงขึ้นอีก
  ข้อที่มีการอักเสบเรื้อรังร่วมกับมีการอักเสบ เรื้อรังของพังผืด และเส้นเอ็นที่อยู่รอบข้อ อาจมีการอักเสบของกล้ามลายเป็นหย่อม ๆ จะทำให้มีการทำลายโครงสร้างของข้อ เกิดข้อพิการเกิดจากภาวะข้ออักเสบทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ จึงดึงรั้งให้ข้ออยู่ในท่างอ ประกอบกับความเจ็บปวดข้อและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะพยายามอยู่นิ่ง ๆ อยู่ในท่าสบายคือท่างอข้อ ผลก็คือข้อต่าง ๆ ถูกทำลายและยึดติดหงิกงอไป
 หากผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวข้อต่าง ๆ บ่อย ๆ ข้อจะฝืดและปวดน้อยลง กล้ามเนื้อจะไม่หดเกร็งยึดจนเหยียดไม่ออก การส่งเสริมให้กล้ามเนื้อกลุ่มที่ใช้เหยียดข้อมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยการบริหารข้อแบบต่าง ๆ จนต้านแรงกับกลุ่มที่ใช้งอข้อได้ จะช่วยให้ข้อไม่หงิกงอผิดรูปและสามารถใช้งานได้ดี แม้ว่าส่วนประกอบในข้อจะถูกทำลายไปบ้าง
 อาการอื่น ๆ ที่พบได้คือ ซีด ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามผิวหนังบางคนอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต ตาอักเสบ หัวใจอักเสบ หรือปอดอักเสบร่วมด้วย

การรักษา
 เนื่องจากการดำเนินโรคเรื้องรัง การอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติ พี่น้องทราบถึงความเป็นไปของโรค แผนการรักษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น
 ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้ปวดข้อและระงับการอีกเสบของข้อตามความเหมาะสมในแต่ละราย ควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หาก สงสัยก็ควรซักถามให้เข้าใจ ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเป็นอย่างยิ่ง
 ในระหว่างใช้ยาระงับการอักเสบ ควรงดอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเผ็ดเปรี้ยว งดดื่มเหล้า เบียร์หรือของดอง ซึ่งมีส่วนเสริมหรือเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือแผลในกระเพาะอาหาร
 การป้องการข้อผิดรูปพิการ พยายามเคลื่อนไหวข้อต่าง ๆ ด้วยตนเองตามความสามารถและทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เช่น ทุกชั่วโมง ระยะแรกอาจจะกินยาร่วมกับการใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนประคบตามข้อต่าง ๆ นานประมาณ 10 - 15 นาที ถ้าเป็นมือและเท้าให้แช่น้ำอุ่นครั้งละ 15 นาที วันละ 1 - 2 ครั้ง การเคลื่อนไหวข้อบ่อย ๆ เป็นวิธีลดความฝืดและความเจ็บปวดที่ได้ผลเร็วที่สุดสามารถป้องกันกล้ามเนื้อลีบ และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้เหยียดข้อได้การเคลื่อนไหวข้อ จึงเป็นวิธีป้องกันข้อผิดรูปและความพิการได้ดีที่สุด
 การบริหารข้อและกล้ามเนื้อต่าง ๆ เป็นประจำทุกวันตามหลักทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์
การบริหารข้อมีวัตถุประสงค์เพื่อ
- ป้องการข้อฝืด ยึดติด และลดอาการปวดข้อ
- เพิ่มความแข็งแรงของข้อ และกล้ามเนื้อ
เมื่อได้รับคำแนะนำในการบริหารข้อและกล้ามเนื้อผู้ป่วย ควรจะปฎิบัติขณะที่อยู่ที่บ้านด้วย วันละ 3 - 4 เวลา สิ่งใดที่พอจะช่วยเหลือตนเองได้ก็ควรพยายามทำ และเพิ่มการเคลื่อนไหว หรือทำงานเบา ๆ ให้มาขึ้นโดยไม่หักโหม
 ความพิการที่เกิดขึ้นจากโรครูมาตอยด์กว่าร้อยละ 80 เป็นสิ่งหลีกเลี่ยง หรือป้องกันได้ ข้อที่พิการไปบ้างแล้วอาจจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับปกติได้ ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติ หรืออย่างน้อยก็สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หากได้รับการรักษาและปฎิบัติตามคำแนะนำโดยสม่ำเสมอ ผู้ป่วยและญาติพี่น้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ความพิการของข้อลดน้อยลง

โรคเก๊าท์ ( Gout )
 เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังโรคหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุ์กรรม พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 9 - 10 เท่า มักพบในเพศชายอายุมากกว่า 40 ปี หรือหญิงวัยหมดประจำเดือน
สาเหตุ
 เกิดจากร่างกายมีกรดยูริกมากเกินไป หรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลงทำให้กรดยูริกคั่งในร่างกายมากผิดปกติ กรดเหล่านี้จะตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไต และอวัยอื่น ๆ ทำให้มีการอักเสบของข้อ หรือการอักเสบของไตได้

อาการ
 มักจะมีอาการอักเสบของข้อนิ้วหัวแม่เท้า หรือข้อเข่า ข้อเท้าเป็น ๆ หาย ๆ การอักเสบของข้อจะเกิดอย่างฉับพลัน ข้อจะบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ระยะแรกจะมีการอักเสบครั้งละ 1- 2 วัน ปีละ 1 - 2 ครั้ง การอักเสบอาจเกิดขึ้นภายหลังจากมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เช่น การบาดเจ็บกระทบกระแทกของร่างกาย ดื่มเหล้ามาก กินอาหารที่มีกรดยูริกมาก จากนั้นอาการอักเสบจะถี่ขึ้น จำนวนวันและเวลาที่อักเสบจะนานมากขึ้นจนกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มขึ้นจนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อ
 ในระยะหลังเมื่อข้ออักเสบหลายข้อ ผู้ป่วยมักสังเกตว่ามีปุ่มก้อนขึ้นบริเวณที่เคยอักเสบบ่อย ๆ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ปุ่มก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งแตกออกมีสารขาว ๆ คล้ายช็อล์กหรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรังหายช้า ในที่สุดข้อต่าง ๆ จะค่อย ๆ พิการใช้งานไม่ได้
การรักษา
 นอกจากจะได้รับยาป้องกันรักษาการอักเสบทางข้อ และยาลดกรดยูริกในร่างกายแล้ว ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาอื่น ๆกินเอง เพราะยาบางอย่างอาจมีผลกระทบต่อการรักษาโรคนี้ เช่น แอสไพริน หรือยาขับปัสสาวะ ไทอาไซด์ ทำให้ร่างกายขับกรดยูริกน้อยลง
การปฎิบัติตัวอื่น ๆ เช่น
- ควรดื่มน้ำมาก ๆ ทุกวัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วในไต
- หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้โรคกำเริบ เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ควบคุมน้ำหนักอย่าให้อ้วน การลดน้ำหนักควรลดทีละน้อยอย่าลดฮวบฮาบ อาจทำให้มีการสลายตัวของเซลล์อย่างรวดเร็ว และมีการสร้างกรดยูริก ทำให้ข้ออักเสบกำเริบได้
โรคแทรกซ้อน
 หากไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง ไตพิการ เส้นเลือดตีบแข็ง นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ถ้าเป็นมากนาน ๆ อาจมีการเสื่อมสลายของข้อได้
  โรครูมาตอยด์และโรคเก๊าเป็นโรคปวดข้อที่พบได้บ่อย และเป็นโรคเรื้อรัง อาจทำให้เกิดความพิการของข้อ หรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ถ้าได้รับการรักษา และการปฎิบัติตัวไม่ถูกต้อง ความเข้าใจในการดำเนินของโรค และการปฎิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอของผู้ป่วย การสนับสนุนและให้กำลังใจจากญาติพี่น้อง จะช่วยลดความพิการ หรืออาการที่ไม่พึงปรารถนาได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลจากภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พิมพ์ลงในหนังสือ รายการกระจายเสียง ของวิทยุศึกษา เดือน พฤศจิกายน 2534

โรคเก๊าท์
ลักษณะทั่วไป
 โรคเก๊าท์ เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่น้อย พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 9 - 10 เท่าส่วนมากจะพบในผู้ชายอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงพบได้น้อย ถ้าพบมักเป็นหลังวัยหมดประจำเดือน
 เป็นโรคที่มีทางรักษาให้หายได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

สาเหตุ
 เกิดจากร่างกายมีกรดยูริค ( uric acid )มากเกินไปกรดยูริคเป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นผลมาจากการเผาผลาญสารเพียวรีน ( purine )ซึ่งมีมากในเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ถั่วต่าง ๆ พืชผักหน่ออ่อนหรือยอดอ่อน และการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเลือดของคนเราและจะถูกขับออกไปทางไต แต่ถ้าหากว่าร่างกายมีการสร้างกรดยูริคมากเกินไป หรือไตขับกรดยูริคได้น้อยลงก็จะทำให้มีกรดยูริคคั่งอยุูในร่างกายมากผิดปกติ ซึ่งจะตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไต และอวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่าง ๆ

ผู้ป่วยส่วนมากมีสาเหตุจากร่างกายสร้างกรดยูริคมากเกินไป เนื่องจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ จึงพบมีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
 ส่วนน้อยอาจมีสาเหตุจากร่างกายมีการสลายตัวของเซลล์มากเกินไป เช่น โรคธาลัสซีเมีย มะเร็งในเม็ดเลือดขาว การใช้ยารักษามะเร็งหรือฉายรังสี เป็นต้น หรืออาจเกิดจากไตขับกรดยูริคได้น้อยลง เช่น ภาวะไตวาย ตะกั่วเป็นพิษ ผลจากการใช้ยาไทอาไซด์ เป็นต้น

อาการ
 มีอาการปวดข้อรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกจะเป็นเพียงข้อเดียว ข้อที่พบมากได้แก่ นิ้วหัวแม่เท้า ( ส่วนข้อเท้า ข้อเข่า ก็อาจพบในผู้ป่วยบางราย ) ข้อจะบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะตึง ร้อนและแดง และจะพบลักษณะจำเพาะคือ ขณะที่อาการเริ่มทุเลา ผิวหนังในบริเวณที่ปวดนั้นจะลอกและคัน ผุ้ป่วยมักเริ่มมีอาการปวดตอนกลางคืน และมักจะเป็นหลังดื่มเหล้าหรือเบียร์ ( ทำให้ไตขับกรดยูริคได้น้อยลง ) หรือหลังกินเลี้ยง หรือกินอาหารมากผิดปกติหรือเดินสะดุด บางครั้งอาจอาการขณะมีภาวะเครียดทางจิตใจ เป็นโรคติดเชื้อ หรือ ได้รับการผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่น บางครั้งอาจมีไข้หนาวสั่น ใจสั่น ( ชีพจรเต้นรัว ) อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร
 ในการปวดข้อครั้งแรก มักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน ( แม้จะไม่ได้รับการรักษาก็ค่อย ๆ หายไปเองได้ ) ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ในระยะแรก ๆ อาจกำเริบทุก 1 - 2 ปี โดยเป็นที่ข้อเดิม แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ทุก 4 - 5 เดือน แล้วเป็นทุกทุก 2 - 3 เดือน จนกระทั่งทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้ง และระยะการปวดจะนานวันขึ้นเรื่อย ๆ  เช่น กลายเป็น 7 - 14 วัน จนกระทั่งหลายสัปดาห์หรือปวดตลอดเวลา ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น 2 - 3 ข้อ ( เช่นข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า นิ้วมือ นิ้วเท้า )จนกระทั้ง เป็นเกือบทุกข้อ ในระยะหลังเมื่อข้อเอกเสบหลายข้อ
 ผู้ป่วยมักสังเกตว่ามีปุ่มก้อนขึ้นที่บริเวณที่เคยอักเสบบ่อย ๆ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า รวมทั้งที่หู เรียกว่า ตุ่มไทฟัส ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของสารยูริคปุ่มก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งแตกออกเป็นสารสีขาว ๆ คล้ายชอล์ก หรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้าในที่สุดข้อต่าง ๆ  จะค่อย ๆ พิการและใช้งานไม่ได้

ข้อปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์

1. ควรดื่มน้ำมาก ๆ ทุกวันอย่างน้อย 3 ลิตร เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วในไต

2. ถ้าอ้วน ควรลดน้ำหนักทีละน้อยอย่าลดฮวบฮาบทำให้ข้ออักเสบกำเริบได้

3. ขณะที่มีอาการปวดข้อ ควรงดเหล้า เบียร์ และอาหารที่มีกรดยูริดสูง เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด กะปิ เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ชะอม ไข่แมงดา กระถิน หน่อไม้

4. ยาบางชนิดอาจมีผลต่อการรักษาโรคนี้ เช่น แอสไพริน ยาขับปัสสาวะ ไทอะไซด์ อาจทำให้ร่างกายขับกรดยูริดได้น้อยลง ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อยากินเองควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนจะใช้ยา

ค่าปกติของระดับกรดยูริคในร่างกาย
กรดยูริค  ( URIC ACID )
ผู้หญิง 2.4 - 5.7 mg / dl
ผู้ชาย 3.4 - 7.0  mg / dl


ข้อมูลโรคเก๊า จากใบพับ โรงพยาบาลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ